วังเจ้าเมืองพัทลุง (วังเก่า-วังใหม่) (Prince Of Phatthalung Palace)
 
Back    08/02/2018, 15:27    23,428  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

                 จังหวัดพัทลุงหรือเมืองลุงเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สภาพเมืองเก่า-บ้านเก่า จึงค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา มาถึงวันนี้ยังพอมีสถานที่ให้ย้อนรำลึกถึงอดีตคือที่ วังเก่า-วังใหม่ ด้านหนึ่งติดถนนอภัยอภิรักษ์ อีกด้านติดคลองลำปำที่เรียกกันว่าวังเก่าและวังใหม่ ก็เพราะทั้ง ๒ ส่วนนี้ ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน ก่อนที่จะกล่าวถึงวังเก่า-วังใหม่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์เมืองพัทลุงสักเล็กน้อยก่อน เมืองพัทลุงปรากฏชื่อในกฎหมายพระอัยการนาทหารหัวเมือง พ.ศ. ๑๙๙๘ (๕๐๐ ปีมาแล้ว) ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) แห่งกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นเมืองพัทลุงถือเป็นหัวเมืองชั้นตรี เป็นหัวเมืองหนึ่งของอาณาจักรทางใต้ มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณวัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และบริเวณโคกเมืองบางแก้ว ซึ่งอยู่ห่างจากวัดเขียนบางแก้วไปทางเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร สิ่งที่ค้นพบ เช่น พระพุทธรูปหินทรายแดง ศิวลึงค์ ฐานโยนี เครื่องถ้วยจีน จามสังคโลกสุโขทัย เมื่อบ้านเมืองถูกทำลายจากโจรสลัดมาเลย์เมืองพัทลุงจำต้องย้ายไปตั้งที่เมืองเก่าบ้านควนแร่ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ริมควนสูง ในตำบลควนมะพร้าวการสูญเสียเอกราชของไทยครั้่งที่ ๒ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสายขึ้นทั่วไป มีการประกาศชุมนุมอิสระขึ้นมากมายหลายที ในส่วนของอาณาจักรทางตอนใต้ เจ้าผู้รักษาเมืองนครศรีธรรมราช ชื่อพระปลัด (หนู) ได้รวบรวมหัวเมืองทางใต้ไว้รวมถึงเมืองพัทลุงด้วยโดยได้ส่งหลานชายที่รู้จักกันในนามพระยาท่าเสม็ด ให้มาครองเมืองพัทลุง และได้ย้ายเมืองไปอยู่ทางเหนือคือที่บ้านท่าเสม็ด (อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช) เมื่อพระยาท่าเสม็ดถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ เจ้านครได้แต่งตั้งให้สามีท้าวเทพกษัตรีคือพระยาพิมลขันธ์มาเป็นเจ้าเมือง และได้ย้ายเมืองจากท่าเสม็ดไปอยู่ที่เมืองพระรถ หรือที่เรียกกันว่าบ้านคูเมืองหรือบ้านควนมะพร้าว ตำบลควนมะพร้าวและต่อมาก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านม่วง ตำบลพระยาขันธ์ (ปัจจุบันคือบ้านพระยาขันธ์) หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่นแล้ว ได้แต่งตั้งนายจันทร์ผู้เป็นมหาดเล็กไปเป็นเจ้าพัทลุง และได้ย้ายเมืองไปอยู่บริเวณคลองลำปำ ริมทะเลหลวง ในปี พ.ศ. ๒๓๑๕ นายจันทร์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ได้แต่งตั้งนายขุนซึ่งมีเชื้อสายของพระยาราชบังสัน (ตะตา) (ต้นตระกูล ณ พัทลุง ) มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงรู้จักกันในนามขุนคางเหล็กหรือพระยาคางเหล็ก (ท่านนับถือศาสนาอิสลามเมื่อมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงได้เปลี่ยนใจมานับศาสนาพุทธ) และได้ย้ายเมืองอีกครั้งมาอยู่ที่บ้านโคกสูง (บ้านโคกสูง พ.ศ ๒๓๒๕-๒๓๓๒ คาบเกี่ยวระหว่างสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) ตำบลลำปำ ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำย่อยหัววัง จากการปกครองของขุนคางเหล็กในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ปรับขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นโท นอกจากความสามารถในด้านการปกครองแล้ว ท่านยังมีความสามารถในด้านการรบในสมัยสงคราม ๙ ทัพ (พ.ศ. ๒๓๒๘-๒๓๒๙) พม่าได้ยกทัพใหญ่มา ๙ ทัพเพื่อตีเอาเมืองต่าง ๆ ของไทยคืนรวมทั้งทางใต้ด้วย โดยเฉพาะที่เมืองพัทลุงพม่าได้ยกทัพเข้าตีวิกฤตนั้นทำให้เกิดผู้นำขึ้นอีกท่านคือพระมหาช่วย ท่านเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดป่าเลไลยก์ ได้รวบรวมชาวบ้านได้ประมาณ ๑,๐๐๐ คนเข้าต่อสู่กับทัพพม่า พระมหาช่วยและบรรดาชาวบ้านได้หยุดยั้งทัพของพม่าไว้ได้ จนกระทั่งทัพหน้าของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทหรือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกทัพหลวงมาถึงได้ตีทัพของพม่าแตก หลังจากท่านลาสิกขาออกมา สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑ ) ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ช่วยราชการเมืองพัทลุง หลังจากสงคราม ๙ ทัพสิ้นสุดลง ๓ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๒ พระยาคางเหล็กถึงแก่กรรม รัชกาลที่ ๑ ได้แต่งตั้งพระยาศรีไกรลาศ มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ท่านได้ย้ายจวนเจ้าเมืองไปอยู่ทางทิศตะวันออก ข้ามไปทางฝั่งขวาของลำน้ำย่อยหัววังหรือที่เรียกว่าศาลาโต๊ะวัก ต่อมาในสมัยเจ้าเมืองชื่อพระยาวิชิตเสนา หรือทองขาว ได้ย้ายจวนเจ้าเมืองข้ามไปอยู่บ้านสวนดอกไม้อยู่หลายปี และได้ย้ายกลับไปอยู่ตั้งวังเก่า (ที่ตั้งปัจจุบัน) อีก จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๐๙ จึงได้ย้ายจวนเจ้าเมืองกลับไปอยู่ที่วังใหม่ (วังชายคลอง) หลังจากนั้นเมืองพัทลุงก็เริ่มสูญเสียอำนาจในการปกครองให้กับเมืองสงขลา อีกทั้งทางกรุงเทพหรือส่วนกลางให้การสนับสนุนเมืองสงขลามากกว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ ได้เสด็จมาเมืองพัทลุง เช่น ที่เขาอกทะลุ, วัดคูหาสวรรค์ (ปัจจุบันยังปรากฎพระปรมาภิไธย จปร.), วัดวัง (วัดคู่บ้านคู่เมืองพัทลุง), เกาะ ๔ เกาะ ๕ และเกาะหมาก เป็นต้น ต่อมาได้มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาลในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ และจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ซึ่งประกอบด้วยหัวเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ในขณะนั้นเจ้าเมืองพัทลุงในระบบการปกครองแบบเก่าคนสุดท้ายคือพระยาอภัยบริรักษ์ (จุ้ย จันทโรจวงศ์) ซึ่งต่อมาการปกครองได้เปลี่ยนเป็นแบบผู้ว่าราชการจังหวัดในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองพัทลุงจากลำปำไปอยู่ที่บ้านวังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์ โดยสรุปการตั้งเมืองพัทลุงมีพัฒนาการจากโคกเมืองบางแก้ว-ปัจจุบันดังนี้

๑. โคกเมืองบางแก้ว ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

๒.บ้านควนแร่ ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๑ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

๓. เขาชัยบุรี (เขาเมือง) ปัจจุบันคือตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

๔. ท่าเสม็ด ปัจจุบันคือตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

๕. เมืองพระรถ ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๑ ตำบลควนมะพร้าง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

๖. บ้านม่วง ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๒ ตำบลพญาขัน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

๗. บ้านโคกสูง ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๔ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

๘. บ้านวังเนียง ปัจจุบันคือตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

               วังเจ้าเมืองพัทลุงตั้งอยู่ที่ถนนอภัยอภิรักษ์ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ในอดีตวังแห่งนี้เคยใช้เป็นสถานที่ว่าราชการ และเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุงมีความสวยงามโดดเด่น ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง วังเจ้าเมืองพัทลุงประกอบด้วย “วังเก่า–วังใหม่” เนื่องจากตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันตามประวัติกล่าวว่าวังใหม่เป็นส่วนหนึ่งของวังเจ้าเมืองพัทลุง ซึ่งความจริงวังเจ้าเมืองพัทลุงก็หมายถึงทั้งวังเก่าและวังใหม่ แต่เป็นของเจ้าเมืองคนละรุ่นกัน วังใหม่เป็นของเจ้าเมืองซึ่งเป็นบุตรของเจ้าเมืองเจ้าของวังเก่า วังใหม่สร้างขึ้นภายหลังจากหลวงจักรานุชิต (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายของพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองพัทลุงต่อจากบิดา ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนชั้นขึ้นเป็นจางวางที่ปรึกษาราชการเมืองพัทลุง ในพุทธศักราช ๒๔๓๑ ในครั้งนั้นจึงมีการสร้างวังใหม่ขึ้นทางด้านหลังวังเก่าทางด้านทิศใต้ติดกับคลองลำปำ ชาวบ้านจึงเรียกวังใหม่นี้ว่า วังชายคลอง หรือวังใหม่ชายคลอง แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเรียกเท่าชื่อวังใหม่ จากที่กล่าวแล้วว่าวังเจ้าเมืองพัทลุงประกอบด้วย "วังเก่า" และ "วังใหม่" เหตุที่เรียกเรือนที่พักเจ้าเมืองพัทลุงว่า "วัง" นั้น มีผู้อธิบายไว้ว่าเจ้าเมืองคือผู้เป็นเจ้าแห่งเมือง มีอำนาจสิทธิ์ขาดในบ้านเมืองโดยได้รับพระราชทานอาญาสิทธิ์จากพระมหากษัตริย์หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า "กินเมือง" เจ้าเมืองมีอำนาจและฐานะต่างพระเนตรพระกรรณ ย่อมถือเสมอว่าเป็นเจ้าที่อยู่ของท่านเจ้าเมืองจึงต้องเรียกว่า "วัง" ด้วย

                วังเก่าผู้สร้างคือพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) เจ้าเมืองพัทลุงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๒-๒๔๓๑ เดิมเป็นเจ้าเมืองปะเหลียน หัวเมืองจัตวาขึ้นกับเมืองพัทลุงในปีพ.ศ.๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) มีพระราชประสงค์ให้พระวรนารถสัมพันธ์พงษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) เจ้าเมืองปะเหลียนมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง แต่ยังไม่ทันโปรดเกล้าฯ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระยาวรนารถสัมพันธ์พงษ์ จึงรั้งเมืองพัทลุง จนถึง พ.ศ. ๒๔๑๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาอภัยบริรักษ์จักรวิชิตภักดีพิริยพาหะ เจ้าเมืองพัทลุงพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) ได้สร้างที่พำนักซึ่งใช้เป็นที่ว่าราชการเมืองด้วยแต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในปีใด ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงอยู่ ๑๙ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๑ จึงได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ ด้วยชราภาพและทุพพลภาพจักษุมืดมัวแลไม่เห็นทั้งสองข้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จางวางกำกับราชการ และพระราชทานราชทินนาม ให้เป็นพระยาวรวุฒิไวยวัฒลุงควิสัยอิศรศักดิ์พิทักษ์ราชกิจนริศราชภักดีอภัยพิริยพาหะ และโปรดเกล้าฯ ให้หลวงจักรานุชิต (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายคนโตซึ่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุงอยู่นั้นเป็นพระยาอภัยบริรักษ์ฯ เจ้าเมืองพัทลุงคนต่อมาคือพระยาวรวุฒิไวยฯ (น้อย จันทโรจวงศ์) ได้พำนักอยู่ที่วังเก่าจนถึงอนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ วังเก่าจึงตกเป็นมรดกแก่บุตรชายของท่านคือหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) หลังจากนั้นก็ตกทอดเป็นมรดกของคุณประไพ มุตตามระ บุตรีของหลวงศรีวรวัตร ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของพระยาวรวุฒิไวยฯ ก่อนจะมอบวังเก่าให้แก่กรมศิลปากร


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

วังเก่า

วังเก่าหรือจวนเก่าของพระยาวรวุฒิไวยฯ (น้อย จันทโรจวงศ์) เจ้าเมืองพัทลุง พ.ศ. ๒๔๑๒-๒๔๓๑

             วังเก่าลักษณะเป็นเรือนไทยแฝดสามหลัง ติดกันใต้ถุนสูง หลังที่ ๑ และ ๒ ทำเป็นห้องนอน หน้าห้องนอนของหลังที่ ๑ และ ๒ ปล่อยเป็นห้องโถงติดต่อกัน ส่วนห้องที่ ๓ น่าจะเป็นห้องของมารดาท่านลักษณะเป็นห้องยาวครอบคลุมพื้นที่แนวห้องโถงหน้าเรือนหลังที่ ๑ และ ๒ ด้วย การที่จะเข้าไปยังห้องของมารดาท่านจะต้องเข้าทางประตูที่ติดกับห้องโถงหน้าเรือนหลังที่ ๒ หน้าห้องโถงของเรือนหลังที่ ๑ และ ๒ เป็นระเบียงลดระดับลงไปจากห้องโถงหน้าห้องนอนระเบียงยาวเลยไปจนสุดแนวของห้องมารดาท่านด้วย แต่ระเบียงส่วนที่เป็นห้องมารดาท่านกั้นเป็นห้องเก็บของขนาดเล็กเรียกว่า "ห้องระเบียง" เรือนแฝดทั้งสามหลังจั่วขวางตะวัน จึงหันหลังให้ทิศตะวันออกและหันหน้าส่วนที่เป็นระเบียงไปทางทิศตะวันตก ระเบียงนี้ติดกับชานบ้านหรือที่เรียกว่านอกชาน ซึ่งมีระดับต่ำลงไปจากระเบียงพอที่คนสามารถนั่งห้อยขาได้สบายโดยเท้าไม่สัมผัสพื้นนอกชาน นอกชานมีพื้นที่กว้างสามารถรวมคนได้เป็นจำนวนมาก ด้านทิศใต้ของนอกชานแนวเดียวกับห้องแม่ทานมีเรือนขนาดเล็ก ซึ่งมีห้องนอนเดี่ยวและระเบียงหน้าห้องนอนระดับเดียวกับระเบียงหน้าเรือนแฝดหลังที่ ๑ และ ๒ เป็นเรือนหลังเล็ก แต่นิยมเรียกว่า "ห้องเล็ก" ระหว่างเรือนหลังเล็กกับเรือนแฝดมีชานขนาดเล็กคั่นอยู่ ชานนี้จึงอยู่ระหว่าง "ห้องระเบียง" กับ "ห้องเล็ก" มีโอ่งมังกรขนาดใหญ่รูปไข่ไว้ให้บ่าวไพร่หาบน้ำจากคลองลำปำมาใส่ไว้ให้เจ้าเมืองอาบ ตรงข้ามกับเรือนแฝดสามหลัง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของชานเรือนเป็นเรือนยาวทอดจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือกั้นเป็นห้อง ๆ ใช้เป็นยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกข้าวสาร ห้องครัว ห้องเก็บของและห้องสุขา วังเก่าเมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ คงมีสิ่งปลูกสร้างเพียงเท่านี้ โดยเรือนสามด้านล้อมนอกชานกลางเป็นรูปตัวยู ด้านทิศเหนือซึ่งเป็นด้านที่มีทางเดินผ่านจึงมีรั้วกั้นชานเรือนไว้มีประตูหน้า และมีบันไดหน้าบ้านทอดจากชานเรือน ลงไปยังพื้นติดกับชานขนาดเล็ก ระหว่างเรือนหลังเล็กกับเรือนครัวนั้นมีฝากั้นชาน และมีประตูหลังซึ่งมีบันไดทอดลงสู่พื้นดิน สำหรับบ่าวไพร่หาบน้ำจากคลองลำปำมาใช้ในวังด้วย วัสดุที่ใช้ในการสร้างวังเก่าเป็นไม้ทั้งหมด วิธีการประกอบเรือนใช้ "ลูกสัก" หรือลิ่มไม้เชื่อมยึดแทนตะปู ซึ่งเป็นวิธีของช่างไทยแต่โบราณภายหลังการบูรณะชานเรือนหายไป แต่มีลานปูกระเบื้องดินเผาเข้ามาแทนที่ เพราะไม้เนื้อแข็งในปัจจุบันหายากและจะมีปัญหาในการดูแลรักษา ภายหลังจึงพิจารณาและบูรณะให้เหมือนเดิมไม่ได้      

ลักษณะของสถาปัตยกรรม 

             สถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความสวยงามอลังการสมฐานะผู้พักอาศัย โดยที่วังเก่าเป็นเรือนไทยที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ มีเรือนใหญ่ทรงไทยแฝดอยู่ตรงกลางวังเก่ามีลักษณะเป็นเรือนไทยแฝด ๓ หลัง ยกใต้ถุนสูง จั่วขวางตะวัน เรือนหลังที่ ๑ และ ๒ ทำเป็นห้องนอน ด้านหน้าห้องนอนสร้างเป็นห้องโถงติดกัน ถัดออกไปเป็นชานขนาดเล็กต่อไปยังเรือนครัววัสดุก่อสร้างเป็นไม้ทั้งหมด วิธีการประกอบเรือนใช้ลูกสักหรือลิ่มไม้เชื่อมยึดแทนตะปูหลังจากหมดการปกครองด้วยระบบเจ้าเมืองแล้ว วังเก่าก็อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมจนกระทั่งพุทธศักราช ๒๕๓๕ ทายาทของพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) ซึ่งถือครองกรรมสิทธิ์วังเก่าและที่ดิน ได้แก่นางประไพ มุตตามระ นางสาวผอบ นะมาตร์ และนายธรรมนูญ จันทโรจวงศ์ ได้โอนกรรมสิทธิ์วังเก่าและที่ดินทั้งหมดให้แก่แผ่นดิน โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๕   ตัววังเก่าที่เห็นทุกวันนี้มีการบูรณะปรับปรุงสภาพจากของดั้งเดิมมาแล้ว ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ในฐานะโบราณสถาน วังเก่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระยาพัทลุงหรือพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ส่วนใต้ถุนวังเก่ามีเรือขุดโบราณซึ่งพบจมอยู่ก้นคลองลำปำฝั่งตรงข้ามวังเจ้าเมืองพัทลุง จึงได้มอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ที่นี่ เรือพัทลุงที่ขุดเจอนี้มีประวัติเป็นหนึ่งในสามเรือที่รัฐบาลกลางจัดส่งมาให้ใช้ในงานราชการ และหลังจากการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบมณฑล มีตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชและตั้งศาลาว่าการมณฑล ณ เมืองสงขลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยเรือพัทลุง เป็นเรือที่มีขนาดเล็กสุดใน ๓ ลำ ตัวเรือยาว ๑๓.๕ เมตร กว้าง ๓.๕ เมตร เป็นเรือท้องแบบ ลักษณะชั้นครึ่ง ด้านบนเป็นดาดฟ้า หน้าที่หลักของเรือพัทลุงก็คือ รับส่งเอกสาร และติดต่อทางราชการระหว่างเมืองสงขลา และเมืองพัทลุง รวมถึงเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในทะเลสาบสงขลา อีกทั้งยังเคยเป็นเรือพระที่นั่งพระมหากษัตริย์ ถึง ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ ๗ และอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎร   

เรือโบราณที่ขุดพบ

วังใหม่

วังใหม่ หรือจวนใหม่ของพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์) เจ้าเมืองพัทลุง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๔๔๖

          วังใหม่เป็นกลุ่มเรือนไทย ๕ หลังยกพื้นสูงล้อมรอบชานบ้านที่อยู่ตรงกลางเป็นลานทราย ที่สร้างขึ้นในภายหลังเป็นกลุ่มเรือนไทย ๕ หลัง ก่อด้วยกำแพงอิฐกั้นทรายไว้เพื่อยกระดับลานทรายให้สูงกว่าพื้นธรรมดา กลุ่มเรือนไทย ๕ หลังประกอบไปด้วยเรือนประธาน ซึ่งเป็นที่พักของพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) เจ้าเมือง พร้อมภรรยาเอกและบุตร ลักษณะเป็นเรือนแฝด ๒ หลัง ภายในเรือนแฝดมีห้องนอนหลายห้อง ที่ห้องนอนเจ้าเมืองพื้นห้องทำเป็นช่องลับมีกระดานปิดไว้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเจ้าเมืองสามารถหลบหนีลงไปทางช่องนี้ ซึ่งจะออกไปสู่ริมฝั่งคลองลำปำ หน้าห้องนอนลักษณะเป็นโถง คงเป็นที่สำหรับเจ้าเมืองว่าราชการโดยมีระเบียงลดระดับลงไปจากห้องนี้อยู่ ๒ ด้าน เชื่อว่าเป็นที่นั่งของข้าราชการระดับต่าง ๆ เมื่อเข้าประชุมปรึกษาข้อราชการ ถัดลงไปก็เป็นลานบ้านซึ่งเป็นลานทราย กลางลานทรายมีต้นชมพู่ขนาดใหญ่ต้นหนึ่งมีแท่นก่อด้วยอิฐรอบเป็นที่นั่ง ส่วนเรือนไทยอีก ๔ หลัง ที่ล้อมรอบลานบ้านอยู่นี้ ๓ หลัง เป็นเรือนขนาดเล็ก มีห้องนอนและระเบียงหน้าห้องเหมือนกันทั้ง ๓ หลัง ใช้เป็นที่อยู่ของอนุภรรยาและบุตร อีกหลังหนึ่งเป็นเรือนครัวมีขนาดใหญ่กว่าเรือนเล็กทั้ง ๓ หลัง ส่วนเรือนหลังสุดท้ายเป็นเรือนครัว สภาพของวังใหม่ที่เห็นทุกวันนี้ มีการบูรณะปรับปรุงสภาพจากของดั้งเดิมมาแล้ว ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากรเช่นกันในฐานะโบราณสถาน

ลักษณะของสถาปัตยกรรม   

        วังใหม่เป็นกลุ่มเรือนไทย ๕ หลังยกพื้นสูงเรือนทุกหลังสร้างด้วยไม้แบบเรือนไทยโบราณยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประกอบตัวเรือนด้วยลูกสัก หรือลิ่มไม้แทนตะปูเช่นเดียวกับวังเก่า บานหน้าต่างตกแต่งลวดลายก้านขด ประจำยามและลายเถาวัลย์พรรณพฤกษา ตัวเรือนใหญ่มีลักษณะพิเศษ คือหน้าจั่วมีลวดลายดวงอาทิตย์ขึ้น

วังใหม่เป็นกลุ่มเรือนไทย ๕ หลัง

ระเบียง

ห้องครัว

วังใหม่เป็นกลุ่มเรือนไทย ๕ หลังมีกำแพงรอบล้อ


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วังเจ้าเมืองพัทลุง (วังเก่า-วังใหม่) (Prince Of Phatthalung Palace)
ที่อยู่
เลขที่ ๑๔๖ หมู่ที่ ๔ ถนนอภัยอภิรักษ์ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
จังหวัด
พัทลุง
ละติจูด
7.6232513
ลองจิจูด
100.1435772



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. (2544). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพัทลุง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมศิลปากร. สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช .( ). วังเจ้าเมืองพัทลุง. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช.

วังเก่า-วังใหม่ในเมืองลุง. (2559). สืบวันที่ 10 ก.พ. 61, จาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/2280910.

วิวัฒน์ สุทธิวิภากร, บรรณาธิการ. (2552). เลสาบเรา 3 . สงขลา : มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.


ข้อมูลเพิ่มเติม

              การเดินทางไปยังวังเจ้าเมืองพัทลุง สามารถไปโดยรถส่วนตัว หรือรถสาธารณะ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๗ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง ปัจจุบันทางตระกูลจันทโรจวงศ์ ยกวังให้อยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร สำหรับการเข้าเยี่ยมชมวังได้เฉพาะวันพุธ-อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม คนไทย ๕ บาท  ชาวต่างชาติ ๓๐ บาท


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025