วัดหัวป่า (Wat Huapa)
 
Back    04/05/2018, 10:52    10,190  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

        บ้านหัวป่า เดิมเป็นที่รกร้าง เป็นป่าพรุ ป่ากก ป่าไม้เทียะ ป่าเสม็ด ป่ากุม ในป่าพรุมีก้อนหินตั้งซ้อยทับกันเป็นจำนวนมากเรียกว่าดอนหินโดยเฉพาะในทางทิศตะวันออก เรียก “ดอนพวา” ตามชื่อคลองดอนพ ปราชญ์ชุมชนของบ้านหัวป่า ได้รวบรวมข้อมูลและสันนิษฐานว่า ผู้คนหรือราษฎรที่เข้ามาบุกเบิกและตั้งถิ่นฐานเพื่อทำมาหากินอยู่ก่อนแล้ว น่าจะมาจากตำบลโรงและตะเครียะโดยเรียกชุมชนว่า “ชุมชนดอนพวา” ต่อมาขุนแก้ว รัตนาราช ซึ่งเป็นชาวพัทลุง ได้อพยพเข้าตั้งรกราก เพราะเล็งเห็นว่าพื้นที่ริมทะเลสาบทางทิศตะวันตกของชุมชนดอนพวา มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร และได้ชักชวนพี่น้อง (ส่วนหนึ่งมาจากทะเลน้อย) มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนทำมาหากินอีกหนึ่งชุมชน และเรียกชุมชน “บ้านหัวป่า” หลังจากนั้นก็ได้มีผู้คนอพยพตามท่านขุนแก้วมาเรื่อย ๆ จนขยายชุมชนมาถึงดอนพวาทางทิศตะวันออก ต่อมาได้รวมเป็นหมู่บ้านเดียวกันเรียกว่า “บ้านหัวป่า” เป็นเพราะเหตุที่ที่หัวป่ามีบ้านเรือนราษฎรอยู่หนา ชื่อของดอนพวาก็ค่อย ๆ เลือนหายไปในที่สุด

       วัดหัวป่า เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดสงขลา เดิมชื่อว่าวัดดอนพวา ซึ่งมีมาพร้อมกับการตั้งชุมชนดอนพวา เพราะเหตุที่ที่ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของคลองดอนพวา (ซึ่งแต่เดิมขึ้นการปกครองกับเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช) เริมสร้างวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗  โดยขุนแก้ว รัตนาราช นายอำเภอในขณะนั้นเป็นหัวหน้าในการก่อสร้าง ร่วมกับพระอุปพระอุปัชฌาย์วัตร โดยอาจารย์ทองไหม พรรณราย ซึ่งเป็นน้องชายของขุนแก้ว รัตนาราช (ทวดทองใหม่คือต้นตระกูลพรรณรายในปัจจุบัน) ได้บริจาคที่ดินให้จำนวน ๑๒ ไร่กวา่ ๆ เพื่อสร้างวัด ชื่อเดิมว่าวัดดอนพวา เพราะเรียกชื่อตามที่ตั้งของวัดคือภูมิศาสตร์ด้วยเหตุที่บริเวณวัดตั้งอยู่บนฝั่งขวาของคลองดอนพวา ในสมัยนั้นวัดดอนพวา สังกัดกับเขตปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช และบริเวณที่ติด ๆ กันทางทิศตะวันตกมีชุมชนมีชื่อเรียกกันว่า "บ้านหัวป่า" ซึ่งเป็นชุมชนที่มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น และเมื่อวัดดอนพวาได้ย้ายเขตการปกครองมาอยู่กับจังหวัดสงขลา ประจบกับทางบ้านหัวป่าที่มีราษฎรอยู่อย่างหนาแน่นกว่าทางดอนพวา ท่านเจ้าคุณพระเทพเมธี (เจ้าคณะจังหวัดสงขลาในขณะนั้น) ให้เปลืี่ยนชื่อวัดดอนพวาเสียใหม่ว่า "วัดหัวป่า"  วัดหัวป่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒

กุฏิ เสนาสนะของวัดห้วป่าสมัยก่อน

ภาพสืบค้นจาก : เพจสมุดบันทึกตาหลวงปลอด วัดหัวป่า. https://www.facebook.com/pg/สมุดบันทึกตาหลวงปลอด-วัดหัวป่า-1434722656802321/photos/?ref=page_internal


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

อุโบสถ

       อุโบสถของวัดหัวป่าหลังปัจจุบัน (หลังที่ ๔) ซึ่งสร้างทดแทนหลังเก่าที่ชำรุด เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยพระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญญสฺสโร) ประดิษฐานอยู่ภายในกำแพงแก้วที่สวยงาม เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน กว้าง ๙  เมตร ยาว ๑๖ เมตร รูปทรงสถาปัตยกรรมเป็นฝีมือช่างพื้นถิ่นภาคใต้ ฐานพระอุโบสถอ่อนท้องสำเภา  มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์  หน้าบันด้านหน้าเป็นเทวดา ๓ องค์ ด้านหลังเป็นรูปปูนปั้นแบบพรรณไม้ประธานภาพเป็นรูปพระพุทธเจ้าโปรดเบญจวัคคีย์ ผนังอุโบสถและเสาพาไลเป็นสีขาวล้วน เสาเสมาสร้างเป็นแบบเจดีย์หรือบัว (สำหรับเก็บกระดูก) ล้อมรอบอุโบสถ

ภาพสืบค้นจาก : เพจสมุดบันทึกตาหลวงปลอด วัดหัวป่า, https://www.facebook.com/pg/สมุดบันทึกตาหลวงปลอด-วัดหัวป่า-1434722656802321/photos/?ref=page_internal

อุโบสถกับรูปปั้นทวดทองใหม่ (ไหม)

        หน้าอุโบสถของวัดหัวป่าสมัยก่อนจะประดิษฐานรูปปั้นทวดทองใหม่ (ไหม) ไว้หน้าอุโบสถ มีชาวบ้านถามพ่อเฒ่าหลวงว่าไซ่เอารูปปั้นทวดทองใหม่ไว้หน้าโบสถ์ บังโบสถ์ดูไม่งาม พ่อเฒ่าหลวงตอบว่า "โหม๋สูไม่รู้ไหร" สั้นๆ.....: (ทวดทองใหม่คือคนที่บริจาคที่ดินสร้างวัดหัวป่า เมื่อ ๑๔๐ ปีมาแล้ว ที่ตั้งรูปปั้นหน้าโบสถ์คือที่ตั้งตัวเรือนเดิมของทวดทองใหม่ ทวดทองใหม่คือต้นตระกูล พรรณรายในปัจจุบัน) ปัจจุบันนี้ได้เคลื่อนย้ายรูปปั้นทวดทองใหม่เข้าไปไว้ในอุโบสถแล้ว

รูปปั้นทวดทองใหม่ (ไหม)

หอไตรเก็บพระไตรปิฏกฉบับใบลาน และคัมภีร์โบราณ

หอไตรเก็บพระไตรปิฏกฉบับใบลาน และคัมภีร์โบราณ

หอระฆัง

หอระฆังสร้างในสมัยท่านพระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญญสฺสโร) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖–๒๕๒๗

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ (โรงธรรม) สร้างสมัยพระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญญสฺสโร)  ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓

กุฏิ ๑๐๐ ปี หลวงพ่อปลอด


ปูชนียบุคคล

       วัดหัวป่าเดิมชื่อวัดดอนพวา ด้วยเหตุที่พื้นที่ตั้งของวัดอยู่บนฝั่งขวาของคลองดอนพวา ซึ่งแต่เดิมสังกัดอยู่กับจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาย้ายมาสังกัดกับเขตจังหวัดสงขลา เจ้าคุณเทพเมธี เจ้าคณะจังหวัดสงขลาในสมัยนั้น จึงให้เรียกเสียใหม่ตามชื่อหมู่บ้านว่า "วัดหัวป่า" นับตั้งแต่ตั้งวัดมาจนกระทั่งบัดนี้มีเจ้าอาวาสทั้งสิ้น ๖ รูป ประกอบด้วย 

         ๑. พระอุปฌาย์วัตร

         ๒. พระอธิการมี

         ๓. พระอธิการคง

         ๔. พระอธิการสง

         ๕. พระครูพิศิษฐ์บุญสาร (ปลอด ปุญฺญสฺสโร)

         ๖.พระอธิการพร้อม อุปสโม

พระครูพิศิษฐ์บุญสาร (ปลอด ปุญฺญสฺสโร)

ภาพสืบค้นจาก : เพจสมุดบันทึกตาหลวงปลอด วัดหัวป่า. https://www.facebook.com/pg/สมุดบันทึกตาหลวงปลอด-วัดหัวป่า-1434722656802321/photos/?ref=page_internal

       พระครูพิศิษฐ์ปุญญสาร หรือหลวงพ่อปลอด ปุญฺญสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวป่า ตำบลตะเครียะ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านขาว) อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นพระผู้ทรงวิทยาคมเรืองวิทยาเวทย์ บำเพ็ญตนในเพศสมณะที่สมบูรณ์ด้วยศีลจริยวัตรอันงดงาม กอปรด้วยวัตรปฏิบัติอันสมถะสันโดษ ปราศจากมลทินมัวหมองใด ๆ จนมรณภาพ พลังจิตแก่กล้าด้วยเมตตาธรรม เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ครองจิตใจชาวบ้าน และผู้คนทั่วไป พุทธศาสนิกชนต่างซาบซึ้งในเกียรติประวัติของท่าน

       พระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญญสฺสโร) นามเดิมว่าปลอด นามสกุลอ่อนแก้ว ถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ ปี จอ ตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ (จ.ศ. ๑๒๖๐) หมู่ที่ ๔ ตำบลตะเครียะ  อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้อง ๖ คน ของนายสุข นางฝ้าย อ่อนแก้ว สำหรับพี่น้อง ได้แก่นายดำ อ่อนแก้ว นางกิมเนี่ยว อ่ำปลอด พระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด ปุญญสฺสโร) นายเถื่อน อ่อนแก้ว นายถั้น อ่อนแก้ว และนางซุ่นเนี่ยว  อ่อนแก้ว เด็กชายปลอด อ่อนแก้ว เป็นผู้ที่มีความประพฤติเรียบร้อย เป็นบุตรที่อยู่ในโอวาทของบิดามารดา เป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาโอบอ้อมอารี เป็นที่รักของญาติพี่น้อง ครั้นพออายุควรแก่การศึกษา บิดาจึงได้นำไปฝากพระอธิการคง ฆงฺคสฺสโร เจ้าอาวาสวัดหัวป่าในขณะนั้น เพื่อศึกษาภาษาไทย อักษรขอมและอักษรสมัยใหม่ต่าง ๆ  ซึ่งพระอธิการคง ได้รับไว้เป็นศิษย์และสอนให้ด้วยตนเอง จนกระทั่งมีความรู้ความสามารถอ่านออกเขียนได้ เด็กชายปลอดได้รับการศึกษาอบรมด้านพระธรรมวินัย  ครั้นอายุได้ ๑๙ ปี เกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงได้ขอบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันพุธขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๕๙ ณ วัดหัวป่า โดยมีพระอธิการคง ฆงฺคสฺสโร เป็นพระอุปัชฌาย์  หลังจากบรรพชาแล้ว สามเณรปลอดก็ได้ศึกษาวิชาวิทยาเวทย์  และคาถาอาคมต่าง ๆ จากหลวงพ่อคง  ด้วยความเป็นผู้มีความเพียรสูง จึงได้ศึกษาวิชาต่าง ๆ  จากหลวงพ่อคงได้อย่างรวดเร็ว พออายุครบที่จะอุปสมบทสามเณรปลอดก็ได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๖๐ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ณ วัดหัวป่า  โดยพระอธิการคง  ฆงฺคสฺสโร  เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระสุก ธมฺมสโร เป็นกรรมวาจาจารย์และพระชู ติสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายาว่า  “ปุญญสสโร” พออายุได้ ๓๕ ปี พรรษาที่ ๑๔ สอบได้นักธรรมตรี (นวกภูมิ) ณ สำนักเรียนวัดหัวป่า เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ อายุ ๓๘ ปี  พรรษาที่  ๑๗ สอบได้นักธรรมโท (มัชฌิมภูมิ) ณ สำนักเรียนวัดหัวป่า  เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๗๘ และวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ ๒๕๑๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ “พระครูพิศิษฐ์บุญสาร”

      นอกจากความรู้ทางธรรมแล้ว ท่านยังได้ศึกษาเกี่ยวกับวิทยาเวทย์จากอาจารย์ ที่มีความรู้เรื่องไสยเวทย์ไม่ว่าจะเป็นสมณะชีพราหมณ์หรือเพศฆราวาสได้ศึกษาภาษาขอมจากพระอาจารย์ไข่ศึกษาวิธีทำตะกรุดพิศมรจากอาจารย์ทวดทองขาวซึ่งเป็นฆราวาสและผู้เรืองวิทยาเวทย์แก่กล้ามาก โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี หนังเหนียว ศาสตราอาวุธทั้งหลายไม่สามารถทำอันตรายได้เลย  นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาจารย์เพิ่ม ซึ่งเป็นฆราวาสอยู่ที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และจากพระอาจารย์ผู้เรืองเวทย์ต่าง ๆ อีกมากมายจนรู้แตกฉานทางวิทยาคมในแขนงต่าง ๆ จนในที่สุดได้เป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกในงานต่าง ๆ นับครั้งไม่ถ้วน พระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญฺญสฺสโร นับเป็นพระอริยะสงฆ์ ที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมและเมตตาจิตรเป็นพระเถราจารย์  ที่สำคัญรูปหนึ่งของภาคใต้  ท่านเป็นภิกษุที่มีความเมตตายินดีรับทุกข์ของทุกคนที่ไปขอความช่วยเหลือช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ ของผู้เดือดร้อน เป็นศูนย์กลางความสามัคคีใครทะเลาะวิวาทกันก็เรียกมาพูดคุย จนกระทั่งคู่กรณียอมรับในคำตัดสิน  แม้ในยามวิกาลซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ถูกงูพิษกัดได้รับการรักษาจนรอดปลอดภัยทุกราย  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงในละแวกบ้าน  จนชาวบ้านเรียกท่านติดปากว่า “พระอาจารย์ปลอด”  หรือ “พ่อท่านปลอด” ในทางวิชาแพทย์แผนโบราณหลวงพ่อปลอด เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการบำบัดรักษาโรคนานาชนิด เช่น การรักษาผู้วิกลจริต หรือเสียสติ การรักษาโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ติดยาเสพติด ผู้ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย  โดยเฉพาะวิชาสยบแมลงป่อง วิชาผสานพลังจิต เป็นที่เลื่องลือยิ่งนัก ท่านจึงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของผู้ตกทุกข์ได้ยาก เป็นผู้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมช่วยเหลือทางราชการในการรักษาพยาบาล  เนื่องจากสมัยนั้นโรงพยาบาลของรัฐมีไม่เพียงพอและอยู่ห่างไกลการคมนาคมไม่สะดวก นอกจากนั้นท่านยังมีพลังจิต มีพลานุภาพในการทำน้ำพระพุทธมนต์เพื่อขจัดปัดเป่าผู้ที่ถูกคุณไสยหรือผีเข้าล้างสิ่งอัปมงคล  และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ลูกศิษย์คือท่านมีวาจาสิทธิ์พูดอะไรจะเป็นไปตามที่พูดเสมอ ในแต่ละปีทางวัดจะจัดพิธีสรงน้ำหลวงพ่อปลอดในเดือน ๕ (เมษายน) ของทุก ๆ ปี บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเฉพาะผู้ชายจะหมอบลงกับพื้น เริ่มที่ประตูห้องตลอดไปตามแนวระเบียงนอกชานกุฏิ จนถึงสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ของวัดจัดไว้เป็นที่ให้ลูกศิษย์และประชาชนทั่วไปมาสรงน้ำโดยทุกคนต้องการให้หลวงพ่อเหยียบบนร่างกายของตนเพื่อเป็นสิริมงคล  พร้อมกับอธิษฐานขอพรตามปรารถนา

งานด้านการปกครอง

       พ.ศ. ๒๔๗๔  เป็นเจ้าอาวาสวัดหัวป่า 
       พ.ศ. ๒๔๗๘  เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดหัวป่า 
       พ.ศ. ๒๕๐๗  เป็นพระอุปัชฌาย์

      เนื่องจากหลวงพ่อปลอดเป็นพระที่เคร่งครัดในธรรมวินัย ท่านจึงยึดมั่นในระเบียบการครองวัดตามระเบียบของมหาเถรสมาคม มีการทำอุโบสถ สังฆกรรม (สวดปาฏิโมกข์) ตลอดปี มีกฎระเบียบของวัดเกี่ยวกับการบวชนาค นวกภิกษุ การเรียนการสอนปริยัติธรรม และการ อบรมศิษย์วัด เป็นต้น

งานด้านการศึกษา 
      เนื่องจากพระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญฺญสฺสโร  เป็นผู้มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการศึกษา  ท่านจึงพยายามสั่งสอนศิษย์ทุกคนให้ได้รับการศึกษา  และหาความก้าวหน้าในชีวิตด้านการศึกษา  วิธีการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ศิษย์รักการศึกษา คือการตั้งรางวัลให้ทุนกับผู้ที่มีความอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร และเรียนดี นอกจากนั้นท่านยังสนับสนุนโดยการส่งภิกษุสามเณร  ที่ท่านเห็นว่ามีภูมิปัญญาควรแก่การส่งเสริมให้ไปศึกษาเล่าเรียน ณ สำนักเรียนอื่น ๆ  ซึ่งมีการจัดการศึกษาในระดับที่สูงกว่า ดังนั้นจะเห็นได้จากศิษย์ของหลวงพ่อปลอดหลายรูปจบปริญญาตรี  โท  และปริญญาเอก

การเผยแพร่พระศาสนา

 ตั้งแต่พระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญฺญสฺสโร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดห้วป่าเป็นต้นมา ท่านเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในทางเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยเป็นผู้ให้การอบรมศีลธรรมแก่นักเรียนและประชาชน  มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕–๒๕๓๕ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านได้ร่วมมือกับพระธรรมฑูตในการเผยแพร่ศีลธรรมให้กับบรรดานักเรียนและชาวบ้านหัวป่า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนร่วมทำความดี และที่สำคัญคือท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ในช่วงเข้าพรรษาของทุก ๆ จะมีผู้เลื่อมใสศรัทธามาบวชเรียนประจำพรรษาอยู่วัดหัวป่าเป็นจำนวนมาก

งานด้านสาธารณูปการและการพัฒนาวัด 
      พระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญฺญสฺสโร) นอกจากจะเป็นพระที่เรืองวิทยาเวทย์แล้ว  ยังเป็นพระผู้นำ  พระนักพัฒนา  ท่านชอบสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น  ท่านได้ถาวรวัตถุสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ประกอบด้วย 

      พ.ศ. ๒๔๘๓  สร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดหัวป่า  มีลักษณะทรงไทยปั้นหยา กว้าง ๘ เมตร  ยาว ๒๔  เมตรราคาก่อสร้างประมาณ ๓,๐๐๐ บาท

      พ.ศ. ๒๔๙๒  สร้างพระอุโบสถ  หลังที่ ๓  (หลังปัจจุบันเพื่อทดแทนหลังเดิม)

      พ.ศ. ๒๔๙๗  สร้างศาลาการเปรียญ  ลักษณะทรงไทยชั้นเดียว  กว้าง  ๑๔ เมตร  ยาว ๑๖ เมตร ราคาก่อสร้าง ๗๐,๐๐๐ บาท 

      พ.ศ. ๒๕๐๕ เริ่มดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ (หลังปัจจุบัน) เนื่องจากหลังเก่าชำรุดมาก จึงให้รื้อ และสร้างใหม่ให้ถาวร กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๖ เมตร 

      พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิลักษณะทรงไทย ๒ ชั้น กว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร ค่าบูรณะ ๒๐,๐๐๐ บาท และในปีเดียวกันท่านได้ชักชวนให้ชาวบ้านขุดสระน้ำใน

      บริเวณที่ดินวัดเพื่อให้มีน้ำใช้

      พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิลักษณะทรงไทย ๒ ชั้น กว้าง ๙ เมตร ยาว ๙ เมตรค่าบูรณะ ๖๕,๐๐๐ บาท และท่านได้ชักชวนให้ราษฎรบ้านหัวป่าพัฒนาเส้นทาง

      คมนาคมโดยตัดถนนผ่าน หน้าวัดมีความยาว ๒ กิโลเมตร 

      พ.ศ. ๒๕๒๓ สร้างศาลาการเปรียญ (โรงธรรม) 

      พ.ศ. ๒๕๒๓ สร้างศาลาการเปรียญ (โรงธรรม) 

      พ.ศ. ๒๕๒๔ สร้างเมรุเผาศพ (รื้อแล้ว) 

      พ.ศ. ๒๕๒๖–๒๕๒๗ สร้างหอระฆัง

ช่วงสุดท้ายของชีวิต

      พระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญฺญสฺสโร ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๗ สิริอายุรวม ๙๗ ปี พรรษาที่ ๗๖ ปัจจุบันร่างของท่านนอนสงบนิ่งอยู่ในโลงแก้ว ณ กุฏิหลังเดิมของท่าน  ณ วัดหัวป่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

ภาพสืบค้นจาก : เพจสมุดบันทึกตาหลวงปลอด วัดหัวป่า. https://www.facebook.com/pg/สมุดบันทึกตาหลวงปลอด-วัดหัวป่า-1434722656802321/photos/?ref=page_internal


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดหัวป่า (Wat Huapa)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.7905872
ลองจิจูด
100.2525805



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย. (2558). เรื่องเล่าจากทุ่งระโนด : ปูชนียบุคคลแห่งทุ่งระโนด (๑) ตาหลวงปลอดวัดหัวป่า ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา . สืบค้นวันที่ 27 มิ.ย. 61,

         จาก https://mgronline.com/south/detail/9580000140771

ตาหลวงปลอด วัดหัวป่า. (2561).  สืบค้นวันที่ 27 มิ.ย. 61, จาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ/698-เรื่องราวหาดใหญ่-ตาหลวงปลอด%2Bวัดหัวป่า/

เพจสมุดบันทึกตาหลวงปลอด วัดหัวป่า. (2561). สืบค้นวันที่ 27 มิ.ย. 61, จาก https://www.facebook.com/สมุดบันทึกตาหลวงปลอด-วัดหัวป่า-1434722656802321/


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024