วัดหลง (Wat Long)
 
Back    18/01/2018, 15:27    9,657  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       วัดหลงตั้งอยู่บนสันทรายในห้องที่ตําบลตลาด อําเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นวัดเก่าแก่ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเจดีย์ของวัดนี้สร้างร่วมสมัยกับพระเจดีย์วัดพระบรมธาตุไชยา คือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ถึง-๑๕ วัดหลงเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีแห่งหนึ่งของภาคใต้ ตั้งอยู่ในเมืองโบราณไชยา อยู่ระหว่างวัดเวียงกับวัดแก้วด้านทิศใต้ห่างจากวัดประมาณ ๓๐ เมตร มีคลองไชยาไหลผ่าน ปัจจุบันเป็นวัดร้างตั้งอยู่ระหว่างวัดเวียงและวัดแก้ว อยู่ทางจากวัดเวียงประมาณ ๓๗๙ เมตร และห่างจากวัดแก้วประมาณ ๔๙๗ เมตร วัดหลงเป็นโบราณสถานที่สําคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีแห่งหนึ่งที่มีลักษณะทรวดทรงทางสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ ซึ่งนับเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยที่สําศัญในคาบสมุทรภาคใต้ กรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นโบราณสถานสําหรับชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๓๔ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗ โบราณสถานแห่งนี้แต่เดิมปกคลุมด้วยมูลดินต้นไม้ใหญ่ มีลักษณะเป็นเนินดินสูงและมีแนวอิฐก่อโผล่ให้เห็นเพียงบางส่วน ต่อมากองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ทําการขุดแต่งและบูรณะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๗ ใช้งบประมาณในการบูรณะรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๖๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งการขุดแต่งนั้นได้ กระทํากันอย่างละเอียดมาก เพราะไม่เหมือนกับโบราณสถานอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากจะมีรูปทรงด้านใดด้านหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง แต่พระเจดีย์วัดหลงนั้นปกคลุมด้วยดินและต้นไม้ใหญ่ ๆ หนาทึบ ด้วยเหตุนี้จึงต้องทํากันอย่างรอบคอบ เพราะต้องรักษาลักษณะสถาปัตยกรรมเดิมของโบราณสถานไว้เป็นสําคัญ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและเป็นหลักฐานข้อมูลในการบูรณะต่อไป ก่อนการดําเนินการขุดแต่งได้ทําการตัดต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนองค์พระเจดีย์ออกทั้งหมด ต่อจากนั้นก็ทําการขุดแต่งทางวิชาการโบราณคดีก่อน โดยใช้ระบบกริด (Grid System) ขนาด ๔๔ เมตร คลุมเป็นดินที่เป็นองค์พระเจดีย์ทั้งหมด ขุดลอกหน้าดินออกทีละชั้นในแต่ละกริด (Grid) จนพบร่องรอยการทับถมของอิฐ ซึ่งส่วนมากเป็นอิฐหักและแนวอิฐก่อบางส่วน ซึ่งส่วนที่พบดังกล่าวเป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยหลังที่ก่อรับส่วนเพิ่มไว้โดยสันนิษฐานจากกระปุกเคลือบและโบราณวัตถุอื่น ๆ ที่พบรอบ ๆ แนวฐาน อิฐก่อส่วนมากจะอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ้อง หยวน เหม็งและเซ็ง นอกจากนั้นก็เป็นเเบบสุโขทัยและแบบพื้นบ้าน ต่อจากนั้นก็ได้เริ่มทําการยุดแต่งโดยใช้ระบบกริดเหมือนเดิม เมื่อขุดแต่งไปในระยะลึก ๔๐ เซนติเมตร (จากระดับที่ขุดระยะแรก) ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือพบฐานบัวขององค์เจดีย์ ซึ่งเป็นฐานที่สมบูรณ์และสวยงามมาก โดยการก่ออิฐโดยขัดผิวหน้าเรียบไม่สอปูน เมื่อพบแนวฐานดังกล่าวที่ได้ขุดแต่งตามแนวที่พบจนใต้พบฐานเต็มของพระเจดีย์โดยสมบูรณ์ พระเจดีย์วัดหลงสร้างเป็นฐานย่อมุมไม้สิบสองออกซุ้มทั้ง ๔ ทิศ ในลักษณะรูปกากบาท อยู่ตำกว่าระดับดินในปัจจุบันประมาณ ๐.๘๐ เมตร และมีชางเข้าสู่ห้องกลานขององค์พระเจดีย์เพียงด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก ต่อจากส่วนฐานขึ้นไปเป็นลักษณะตัวองค์มีศิลปะทางสถาปัตยกรรมคล้ายคล้ายคลึงกับส่วนฐานแต่ลวดบัวต่าง ๆ จะเล็กกว่าชั้นจองแผ่นอิฐ   
     
   ชื่อของวัดหลงเข้าใจว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่าวัดหลวงบริเวณใกล้เคียงกับวัดหลง ที่บ้านนายสอน เพชรศักดิ์ ราษฎรบ้านหัวคูอยู่ห่างจากคลองไชยาไปทางทิศใต้ราว ๓๐ เมตร ได้ขุดบ่อน้ำบริเวณสวนกล้วยพบโบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้น ได้แก่ประติมากรรมสำริดรูปนางตารา ๘ กร ลักษณะทางประติมานวิทยาคล้ายกับที่พบในภาคตะวันออกของแคว้นเบงกอลในประเทศอินเดีย แบบศิลปะปาละ มีอายุราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๕-ถึง ๑๖ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เช่น ชิ้นส่วนคันฉ่องสำริดสมัยราชวงศ์ซุ่ง ชิ้นส่วนเครื่องประดับหิน ลูกปัดสีเหลือง เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง ตลอดถึงเครื่องถ้วยจีนสมัยอันนัมของเวียดนาม โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงหลักฐานการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของชุมชนบนสันทรายที่เป็นเมืองโบราณไชยา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่าเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๓๐ เมตร ก่ออิฐชนิดไม่ใช้ปูนสอ ต่อมาในปี ๒๕๒๔-๒๕๒๗ กรมศิลปากร จึงได้อนุมัติให้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีอีกครั้งพร้อมทั้งบูรณะเสริมความมั่นคงดังปรากฏในปัจจุบัน วัดหลงตั้งอยู่ในพื้นที่ราบมีถนนตัดผ่าน ปัจจุบันเหลือแต่ฐานเจดีย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทิศใต้ของวัดประมาณ ๘๖ เมตร ทิศตะวันออกของวัดมีคลองไชยาไหลผ่านไปสู่อ่าวไทย ทิศตะวันตกติดต่อกับโรงเรียนไชยาวิทยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอไชยาประมาณ ๑,๓๗๙ เมตร


ความสำคัญ

โบราณสถานวัดหลงในปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐาน เนื่องอิฐส่วนบนนถูกรื้อไปทำกำแพงแก้วในคราวบูรณะวัดพระบรมธาตุไชยา มีการดำเนินงานทางโบราณคดีขุดตรวจสอบเนินดิน ในปี พ.ศ. 2498 และการขุดแต่งและบูรณะโดยกรมศิลปากรที่ 14 ในปี พ.ศ. 2525 -2527 พบว่าเป็นฐานของอาคารศาสนสถาน ประกอบด้วย

ฐานล่างสุด ฐานบัวลูกแก้ว 1 ชุด อยู่ในผังรูปกากบาท ขนาด 21.65x21.65 เมตร มีการเพิ่มมุมรับกับเรือนธาตุทรงจตุรมุข โดยประกอบไปด้วยฐานเขียง มีการเซาะร่องและก่ออิฐเว้นช่อง เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำท้องไม้คาดด้วยลูกแก้วมีร่องรอยการประดับเสาติดผนัง ฐานชั้นนี้ใช้เป็นลานประทักษิณ มีทางขึ้นทางทิศตะวันออกเพื่อเข้าสู่โถงอาคารของอาคารเรือนธาตุ  ปรากฏร่องรอยการปรับเปลี่ยนโบราณสถานในสมัยหลัง คือ มีการก่ออิฐเป็นกรอบล้อมรอบฐานแก้วแล้วถมดินอัดปูพื้นเป็นลานกว้างคล้ายลานประทักษิณครอบฐานเดิม จากนั้นเปลี่ยนทางขึ้นใหม่ตรงกับมุขทั้ง 4 ด้านของเรือนธาตุ ถัดจากลานประทักษิณเป็นชุดฐานบัวเขียงและฐานบัวลูกแก้ว

เรือนธาตุพบเพียงส่วนฐานของเรือนธาตุ เรือนธาตุมีมุขยืนออกมา 4 ด้าน มุขด้านตะวันออกมีขนาด 4x4 เมตร ส่วนมุขอีก 3 ด้านมีขนาด 1.75x2.70 เมตร ทุกผนังด้านนอกมีเสาประดับอาคารอยู่ตรงกึ่งกลาง (นงคราญ ศรีชาย, 2544,177 -179)

โบราณวัตถุที่สำคัญที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานวัดหลง ได้แก่ พระพิมพ์ดินดิบศิลปะทวารวดีและขอมปะปนกันพบบริเวณรอบฐานอาคารโบราณสถาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 -18, เครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ซุ้งและหยวนกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 -19 , เครื่องเคลือบเซลาดอน, เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ,เครื่องถ้วยสุโขทัย,เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินแบบพื้นบ้าน เป็นต้น

โบราณสถานวัดหลงถือเป็นสถูปที่ใหญ่ที่สุดในเมืองโบราณไชยา โดยมีขนาดใหญ่กว่าพระบรมธาตุไชยา 1 เท่า สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญ โดยสร้างขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 14 -15 และมีการเข้ามาใช้ศาสนสถานอีกครั้งในช่วงสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 18 -22


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

ฐานเจดีย์

       โบราณสถานที่สำคัญในวัดหลงคือฐานเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะทรวดทรงทางสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่แบบศรีวิชัย แต่สันนิษฐานจากเจดีย์ของวัดนี้ ซึ่งน่าจะสร้างร่วมสมัยกับพระเจดีย์วัดพระบรมธาตุไชยา คือระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ เป็นเจดีย์ที่ชำรุดทิ้งร้างมานานเหลือแต่ซากอิฐและฐานราก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคือก่ออิฐโดยไม่สอปูน และขัดผิวหน้าเรียบ ลักพะนะฐานเป็นรูปกากบาท มีซุ้มยื่นออกrตามแนวทิศทั้ง ๔ และมุมฐานระหว่างซุ้ม (มุข)  กรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นโบราณสถานสำหรับชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ต่อมากองโบราณคดี กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึง -๒๕๒๗ ใช้งบประมาณในการบูรณะรวมทั้งสิ้น ๑,๖๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งการขุดแต่งนั้นได้กระทำอย่างละเอียดรอบคอบการขุดแต่งเจดีย์วัดหลงก็เพื่อหาหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและโบราณคดี เจดีย์วัดหลงเดิมปกคลุมด้วยดินและต้นไม้ใหญ่ ๆ หนาทึบ เมื่อกรมศิลปากรได้ขุดแต่งและได้พิจารณารูปทรงเห็นว่าเป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมศรีวิชัยสมัยเดียวกับวัดแก้วลักษณะของเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบก่ออิฐไม่ถือปูน ฐานเป็นรูปกากบาท มีซุ้มทั้งสี่ทิศ มีประตูเข้าสู่ห้องกลางทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ที่ห้องกลางก่ออิฐเป็นผนังกรุทั้ง ๔ ด้าน ตรงทางด้านทิศตามแนวทิศทั้งสี่ ผนังกรุด้านทิศตะวันออกกว้าง ๓.๕๐ เมตร ผนังกรุด้านทิศตะวันตกกว้าง ๓.๔๙ เมตร ผนังกรุด้านทิศเหนือ กว้าง ๓.๔๖ เมตร และผนังกรุด้านทิศใต้กว้าง ๓.๕๐ เมตร มีความลึกจากระดับพื้นปูอิฐตอนบนถึงระดับอิฐปูพื้นล่างสุดโดยเฉลี่ยประมาณ ๒.๕๙ เมตร

        อายุสมัยแห่งการก่อสร้างพระเจดย์วัดหลงจากข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นทางวิชาการโบราณคดี พบว่าพระเจดีย์องค์นี้ได้ทําการก่อสร้างหรือบูรณะมาแล้วอย่างน้อยที่สุด ๒ ครั้ง ก่อนที่จะเป็นโบราณสถานที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะจากการสันนิษฐานเกี่ยวกับพระพิมพ์ดินดิบปางสมาธิขัดสมาธิเพชรและสถูปดินดิบ ซึ่งโบราณวัตถุทั้ง ๕ ชิ้นนี้ เป็นที่รับรองในแบบอย่างทางศิลปะซึ่งกันและกัน จัดอยู่ในศิลปะศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ และสถูปดินดิบจําลองขนาดเล็กนั้นใกล้เคียงกับลักษณะสถูปเจดีย์บูโรพุทโธ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะปาละจากประเทศอินเดีย สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ไซเลนทร ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมาและโดยเหตุที่ได้พบศิลปโบราณวัตถุทั้ง ๒ บริเวณมุมทางด้านทิศตะวันออกใกล้กับบันไดทางขึ้นสู่องค์พระเจดีย์ในระดับลึก ๔๐ เซนติเมตร ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่าโบราณวัตถุทั้ง ๒ ควรจะเป็นของดั้งเดิมที่เคยบรรจุอยู่ในห้องกลาง (ห้องกรุ) ขององค์พระเจดีย์ สําหรับการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดหลงในระยะที่ ๒ นั้นน่าจะเป็นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗- ๑๙ ในขณะที่พุทธศาสนานิกายหินยานได้เริ่มแผ่เข้ามาสู่ชุมชนไชยา เพราะจากการขุดแต่งแนวฐาน ๔ เหลี่ยม ซึ่งก่อสร้างพื้นฐานเดิมขององค์พระเจดีย์นั้น พบเศษเครื่องถ้วยและกระปุกของจีนสมัยราชวงศ์เหม็งและสมัยราชวงศ์เช็งปะปนอยู่กับเครื่องถ้วยที่เรียกว่า “สังคโลก" สําหรับสมัยราชวงศ์เหม็งนั้นมีระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๑-๒๑๘๗) ส่วนสมัยราชวงศ์เช็งอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๘๗-รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 


ปูชนียวัตถุ

       ในการขุดค้นทางวิชาการของกรมศิลปากรพบแต่เพียงเศษกระเบื้องดินเผาในห้องกลางแต่มีไม่มาก แต่บริเวณฐานและบริเวณภายนอกใกล้กับกำแพงกั้นดิน พบศิลปะโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิ

๑. สถูปดินดิบ ๑ องค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔
๒. พระพุทธรูปดินดิบปางสมาธิ ขัดสมาธิเพชร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔
๓. พระพิมพ์ดินดิบ (ชำรุด) ๒๕ ชิ้น และที่สมบูรณ์ ๓ องค์
๔. กระปุกสมัยสุโขทัยภายในบรรจุกระดูกที่เผาแล้ว จำนวน ๙ ใบ
๕. กระปุกสมัยราชวงศ์ซ้อง จำนวน ๑ ใบ และแบบพื้นเมืองจำนวน ๑ ใบ
๖. กระปุกสมัยราชวงศ์เหม็ง จำนวน ๒๗ ใบ
๗. แจกันสมัยราชวงศ์เช็ง จำนวน ๑ คู่
๘. ชิ้นส่วนหินบด จำนวน ๔ ท่อน

        สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับปูชนียวัตถุที่ขุดพบบริเวณวัดหลง ประกอบด้วย

๑. ฐานเจดีย์หรือฐานปราสาท  อาคารศาสนสถานของวัดหลง ประกอบด้วยฐานล่างสุด เป็นฐานบัวลูกแก้ว ๑ ชุด   อยู่ในผังรูปกากบาท ขนาดประมาณ  ๒๑.๖๕ x ๒๑.๖๕ เมตร  ลักษณะผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมรับกับฐานเรือนธาตุทรงจตุรมุข ฐานชั้นนี้ ประกอบด้วยฐานเขียงบริเวณกึ่งกลางฐานเขียงค่อนไปทางด้านบนเว้นเป็นร่อง และก่ออิฐเว้นช่องเหนือฐานเขียงเป็นฐานบัวคว่ำ ท้องไม้คาดด้วยลูกแก้ว มีร่องรอยประดับเสาติดผนัง ฐานชั้นนี้ทำหน้าที่คล้ายเป็นฐานประทักษิณ มีทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและทางเดินลอดเข้าสู่ห้องโถงกลางของเรือนธาตุอาคาร แต่ปรากฏว่าฐานชั้นล่างทั้งหมดถูกก่อสร้างเปลี่ยนแปลงใหม่ในภายหลังโดยก่ออิฐเป็นกรอบล้อมรอบฐาน แล้วถมดินอัดปูพื้นเป็นลานกว้างกลายเป็นลานประทักษิณสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่พอกทับฐานอาคารเดิมแล้วแปลงทางขึ้นใหม่ตรงกับมุขทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุ ถัดจากลานประทักษิณเป็นชุดฐานเขียงและฐานบัวลูกแก้วที่เลียนแบบมาจากฐานชั้นล่าง มีลักษณะเป็นบัวตีนธาตุหมายถึงส่วนล่างของผนังอาคารเรือนธาตุ ตัวเรือนธาตุมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน  มุขทางด้านทิศตะวันออกนำเข้าสู่ห้องโถงกลาง ขนาดประมาณ ๔ x ๔ เมตร สำหรับประดิษฐานรูปเคารพประธานของวัด ส่วนมุขอีกสามด้าน คงใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกันขนาดของมุขประมาณ ๑.๗๕ x ๒.๗๐เมตร ทุกด้านของผนังด้านนอกมีเสาประดับอาคารอยู่ตรงกึ่งกลางด้าน ลักษณะเป็นเสาลดเหลี่ยม ๑ ชั้น ต่างจากเสาติดผนังเรือนธาตุของวัดแก้วซึ่งใช้วิธีก่ออิฐเป็นร่องผ่ากลางเสาขึ้นไปถึงยอดเสา แต่เทคนิคการก่ออิฐใช้วิธีเดียวกันคือก่ออิฐไม่สอปูนและขัดผิวหน้าเรียบ ภายหลังการขุดค้นสันนิษฐานว่า ฐานอาคารเดิมของวัดหลงคงจะสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับวัดแก้ว ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔- ถึง ๑๕ เนื่องจากมีรูปแบบแผนผังคล้ายคลึงกัน ส่วนศาสนสถานที่เพิ่มเติมในยุคหลังน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา
๒. พระพิมพ์ดินดิบ ได้แก่พระพิมพ์อิทธิพลศิลปะทวารวดีและขอมปนกัน ลักษณะเป็นแผ่นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีพระพุทธรูป ๑๐ องค์ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว องค์ประธานประทับยืนปางแสดงธรรม ทั้งสองข้างพระประธานมีพระสาวกยืนประนมมือ ด้านข้างถัดมาเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งอีก ๒ องค์ แถวล่างเป็นพระพุทธรูป ๕ องค์ประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วแสดงปางมารวิชัย พบบริเวณรอบฐานอาคารศาสนสถาน
๓. เครื่องถ้วยวัดหลง ได้แก่เครื่องถ้วยชามจีนจากเตาหลงฉวน พบเป็นจำนวนมาก มีอายุอยู่ในสมัยราชวงศ์ซุ่งและหยวน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-ถึง ๑๙ เครื่องถ้วยตกแต่งด้วยลายดอกบัวและลายนกไก่ฟ้าหรือหงส์จีนด้วยกรรมวิธีขุดใต้เคลือบ เนื้อเคลือบสีเขียวไข่กาหรือที่เรียกว่าพวกเซลาดอน

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดหลง (Wat Long)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๔ ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จังหวัด
สุราษฎร์ธานี
ละติจูด
9.3823
ลองจิจูด
99.1903



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ณัฎฐภัทร จันทวิช. (2537). เครื่องถ้วยจีนที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย. พิมพ์ครั้ง 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
พิริยะ ไกรฤกษ์. (2523). ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
สำนักงานเทศบาลตำบลตลาดไชยา. (2560). เจดีย์วัดหลง. สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 64, จาก http://www.chaiyacity.go.th/travel/detail/1382

แหล่งโบราณคดีภาคใต้-เจดีย์วัดหลง. (2552). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ม.ค.61, จาก http://www.openbase.in.th/node/935


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024