หาดแหลมสมิหลา
 
Back    09/04/2019, 09:58    3,714  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา


ภาพจาก : https://muangthai360.com/travel-show-73.htm       

       หาดแหลมสมิหลาคือสถานที่ท่องเที่ยวสําคัญที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นชายหาดที่มีทรายขาวละเอียดเรียกว่า “ทรายแก้ว” ซึ่งร่มรื่นไปด้วยป่าสนมีโขดหินขนาดย่อมยื่นลงทะเล หาดแหลมสมิหลายังถูกนำมาใช้เป็นคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้” หาดสมิหลามีสัญลักษณ์ที่ทุกคนจำได้คือเงือกทอง คำว่า "สมิหลา" เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า "สมิ" แปลว่า "ลม" และ "หลา" แปลว่า "ความสดชื่น" เมื่อนำมารวมกันแปลว่า "ลมที่หอบเอาความสดชื่นเข้ามา" และอีกที่มาของชื่อสมิหลาคือ มาจากความเชื่อว่าสถานที่ตรงนี้เป็นแหลมซึ่งมีศิลา บ้างก็บอกว่ามีศาลา คนโดยทั่วไปจึงเรียกว่า "แหลมศาลา" "แหลมศิลา" ปกติของคนคนใต้เป็นคนพูดเร็ว เลยเพี้ยนไปเพี้ยนมา กลายเป็น "หาดแหลมสมิหลา" ไปในที่สุด  หาดแหลมสมิหลาเป็นชายทะเลซึ่งเปรียบเสมือนห้องรับแขกธรรมชาติ ที่ต้อนรับผู้มาเยือนเรื่อยมาจากอดีตจนปัจจุบัน 

       ความเป็นมาของนางเงือกทอง
       
นางเงือกที่หาดแหลมสมิหลา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยความคิดริเริ่มของนายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสงขลา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๑ ประวัติและความเป็นมาของนางเงือกนี้มาจากนิยายปรําปราของไทยแต่โบราณ จากคําบอกเล่าของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ซึ่งเป็นนักประพันธ์และนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทยว่า ตามนิยายดังกล่าวในวันดีคืนดี นางเงือกจะขึ้นมานั่งหวีผมที่ชายหาด หวีนั้นเป็นหวีทองคํา อยู่มาวันหนึ่งมีชาวประมงเดินผ่านมานางเงือกตกใจหนีลงน้ําไปแต่ได้ลืมหวีทองคําไว้ ชาวประมงผู้นั้นก็ได้เก็บหวีทองคํานั้นไว้และได้มาแอบดูนางเงือกอยู่ที่ชายหาดตลอดมาแต่นางเงือกก็ไม่ปรากฏกายให้เห็นอีกเลย 



            การสร้างนางเงือกจึงได้สร้างตามนิยายปรําปราดังกล่าวมาแล้ว โดยปั้นเป็นรูปนางเงือกนั่งหวีผมที่ชายหาด และให้ชื่อว่า “เงือกทอง (Golder Mermaid” ตามคําแนะนําของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นางเงือกที่ปั้นขึ้นนี้โดยหล่อเป็นบรอนซ์รมดํา โดยอาจารย์จิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อํานวยการโรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ออกแบบ ปั้นหล่อ โดยใช้งบประมาณของเทศบาลเป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท เมื่อปั้นและหล่อเสร็จแล้ว ได้นํามาติดตั้งบนโขดหินที่หาดสมิหลา และได้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของหาดแหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา มาจนทุกวันนี้ และในปีนี้ (๒๕๖๖) มีอายุครบ ๕๗ ปี มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แวะเวียนมามาท่องเที่ยวที่ชายหาดแหลมสมิหลา จะต้องขึ้นไปถ่ายภาพคู่กับนางเงือกทอง เพื่อเป็นที่ระลึกเก็บไว้และว่ากันว่าหากมาสงขลาแล้วไม่ถ่ายรูปกับนางเงือกทองก็เท่ากับว่ายังมาไม่ถึงสงขลา บนชายหาดแหลมสมิหลา ยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเกาะหนู-เกาะแมวอีกด้วย เกาะหนู-เกาะแมว มิตรร่วมชายหาดของนางเงือกก็มีตำนานเล่าว่าพ่อค้าชาวจีนผู้หนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายระหว่างเมืองจีนกับเมืองสงขลาเป็นประจำ วันหนึ่งพ่อค้าผู้นี้ได้ซื้อหมากับแมวลงเรือไปเมืองจีนด้วย หมากับแมวอยู่บนเรือนาน ๆ เกิดความเบื่อหน่ายฃจึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมากับแมวได้ทราบว่าพ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ทำให้ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายโดยให้หนูไปขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามา และหนูก็ขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ทั้ง ๓ สัตว์ ว่ายน้ำหนีลงจากเรือ โดยที่หนูอมดวงแก้วไว้ในปาก ขณะนั้นหนูนึกขึ้นได้ว่าถ้าถึงฝั่งหมากับแมวคงจะแย่งเอาดวงแก้วไป จึงคิดที่จะหนี ฝ่ายแมวซึ่งว่ายตามหลังมาก็คิดเช่นกัน จึงว่ายน้ำรี่ไปหาหนู หนูตกใจว่ายน้ำหนีไม่ทันระวังตัว ดวงแก้ววิเศษที่อมไว้จึงตกลงจมหายไปในน้ำ สุดท้ายหนู และแมวต่างก็หมดแรงจมน้ำตาย กลายเป็นเกาะหนู เกาะแมวอยู่ที่อ่าวหน้าเมือง ส่วนหมาตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่ง และสิ้นใจตายด้วยความเหน็ดเหนื่อย กลายเป็นหินบริเวณเขาตังกวน อยู่ริมอ่าวสงขลา ดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูก็แตกละเอียดกลายเป็นหาดทรายแก้วอยู่ทางด้านเหนือของแหลมสนนั่นเอง


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
หาดแหลมสมิหลา
ที่อยู่
ซอยราชดำเนิน อำเภอเมืองสงขลา สงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.215116
ลองจิจูด
100.596646



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

 

 

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024