วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตรน้ำน้อย
 
Back    05/08/2021, 10:59    654  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา


ภาพจาก : http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=2397


             วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "วิหารน้ำน้อย" เป็นวิหารที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙)  ได้ทรงเสด็จมาทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๙ โดยคุณยายกิมไล่ ชูโตชนะ และสามี ถวาย  เพื่อให้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสืบไป  จากการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร ของ ม.ล. วรวัฒน นวรัตน และจากหนังสืออื่น ๆ ได้บันทึกไว้ว่า... พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤษีลิงดำ) วัดท่าซุง คราครั้งได้เดินทางจารึกมาภาคใต้ ตามประวัติเล่าว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ พร้อมด้วยคณะศิษย์ ได้เดินทางโดยเครื่องบินมาลงที่ภูเก็ต โดยมี ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ผู้อำนวยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกระบี่ ในสมัยนั้นเป็นผู้รับรองพร้อมทั้งจัดรถออกเดินทางไปในที่หลายแห่ง จนกระทั่งมาถึงหาดใหญ่เมื่อ วันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๗ แล้วได้ค้างคืนที่บ้านพักรับรองที่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดไว้ หลวงพ่อได้พบกับองค์พระพรหมในคืนนั้น ในขณะที่กำลังพักผ่อนอยู่ในห้องนอนของท่าน พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้เล่าว่าขณะที่ใจสบายทำท่าว่าจะหลับก็ปรากฏพบชายคนหนึ่งมานั่งอยู่ที่ปลายเตียงเลยเท้าลงไป เป็นผู้ชายยกมือขึ้นแตะปากท่าทางดี เหมือนกับคนธรรมดาจึงได้ถามว่าเป็นใคร แกชี้มือขึ้นไปข้างบนแล้วก็บอกว่ามาจากพรหมขอรับ ถามว่าถ้ามาจากพรหมแล้วแต่งตัวแบบนี้เพื่อประโยชน์อะไร ทำไมไม่แสดงกายเป็นพรหม แล้วก็เมื่อตอนกลางวันก่อนที่จะเข้ามานะไปรับที่นอกเมือง เห็นพระพุทธรูปอยู่บนศรีษะนั่นเป็นท่านหรือ ความจริงเข้าใจว่าเป็นเทวดามีเครื่องประดับแพรวพราว และมีสีสันวรรณะไม่ใช่ลักษณะของพรหม ท่านก็เลยบอกว่าเป็นคนละคนที่ไปรับน่ะ เป็นเทวดาขอรับแต่ผมนี่เป็นพรหม เป็นคนละคนกับบุคคลนั้นจึงได้ถามท่านว่ามาทำไม? แล้วพระที่แสดงลอยอยู่เหนือศีรษะเทวดานั้นหมายความว่ายังไง...ไม่ทราบความหมาย..? ท่านก็บอกว่าที่แสดงให้ปรากฏก็เพราะว่าในเขตของจังหวัดสงขลามีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ทำด้วยทองคำทั้งองค์ไม่มีส่วนผสมอย่างอื่น คือไม่ใช่แกนทองแดวงแล้วเอาทองคำหุ้มหน้าตักกว้างประมาณ ๒ เมตร หรือ ๓ เมตรไม่ได้บันทึกไว้ ก็เลยถามท่านว่าไปแสดงให้ปรากฏทำไม...แสดงว่าบ้านเมืองนี้เจริญหรือประการใด ท่านบอกไม่ใช่ขอรับ ผมเห็นว่าคณะของท่านที่มานี่เป็นคณะที่มีศรัทธามาก เวลานี้พระพุทธปฏิมากรแทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า มีทองมีน้ำหนักบอกไม่ถูก (ท่านบอกเหมือนกัน ทั้งองค์ ทั้งฐานน้ำหนักเท่าไหร แต่ก็ไม่บอก) บอกว่าเวลานั้นที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งหลัง ปรากฏว่าเขาเอาพระองค์นี้มาฝัง เกรงว่าพวกพม่ามีใจอธรรมจะนำทองคำเป็นประโยชน์ส่วนตน อย่างที่อยุธยามันยังหลอมเอาทองคำไปกินเสีย มีน้ำหนักตั้งหลายพันชั่ง แต่ว่าพระองค์นี้มีน้ำหนักยิ่งกว่าพระองค์นั้น สำหรับทองคำเพราะว่าพระองค์นั้นภายในเป็นทองสัมฤทธิ์ข้างนอกเป็นทองคำ แต่ว่าองค์นี้เป็นทองคำล้วน เวลานี้ยังอยู่ตรงนั้น ฝังอยู่ตรงไหนบอกไม่ได้ บอกอันตรายจะเกิดแก่ทรัพย์สินของพระพุทธศาสนาแล้วก็เลยถามว่า ไปแสดงให้ปรากฏเพื่อประโยชน์อะไรท่านก็บอกว่า ตั้งใจจะให้คณะที่มาด้วยกันช่วยกันสร้างเจดีย์ทับพระพุทธรูปองค์นั้น เพราะฝังไว้ในดินลึกประมาณ ๕ วา เวลานั้นใช้คนประมาณ ๓๐๐ คนเศษ นำพระมาแล้วบรรจุพระไว้ สร้างเครื่องล้อมป้องกันไว้อย่างดี แล้วทรัพย์สินที่มีค่าสำหรับกษัตริย์ก็มีอยู่มาก ท่านถามว่าจะทำได้ไหม ก็เลยถามว่าเจดีย์ใหญ่ไหม ท่านบอกไม่ต้องใหญ่สูงประมาณ ๓ วาก็ได้ แต่ให้ฐานครอบพระเข้าไว้คนจะได้ไม่ข้ามไปข้ามมา ก็เลยบอกว่าเวลานี้สร้างวัดยังเป็นหนี้เขามาก ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วให้ช่วยกันมาสร้างที่ตรงนั้นก็แล้วกัน ไม่รีบไม่ร้อน ที่จะให้มาเที่ยวคราวนี้ ที่ยอมรับเขาก็เพราะว่าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าดลใจ ทั้งที่ร่างกายของท่านไม่ดี ท่านก็ยอมรับ ความจริงแล้วไม่ได้ตั้งใจจะไป เห็นว่าประโยชน์มันน้อยในการท่องเที่ยว นอนดีกว่า แต่เมื่อเขาถามเข้าจริงๆ ก็ไม่ทราบเพราะอะไรตัดสินใจยอมรับเขาเฉยๆ มาดูกำหนดการแล้วหายใจไม่ออก วันทั้งวันไม่มีเวลาหยุดคิดว่าคงจะไปพับจุดใดจุดหนึ่ง บังเอิญมันก็ไม่พับเป็นมหัศจรรย์เรื่องนี้แปลกมาก เดินทางทั้งวันกลางคืนก็นอนน้อยที่สุด อย่างดีหลับไม่เกิน ๒ ชั่วโมง เช้าก็เดินทางต่อไป แต่ก็ไปได้ทุกจุดนี่เห็นจะเป็นอำนาจพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ พรหมานุภาพ เทวดานุภาพ และครูบาอาจารย์ ตลอดจนบรรพชนที่สร้างผืนแผ่นดินไทย ช่วยพยุงกายของอาตมาไปได้เมื่อคิดอย่างนี้ก็เป็นอันรับปากกับท่านพรหมว่าสิ่งเหล่านี้คงไม่หนักแต่ทว่าจะขอปรึกษาหารือกับบรรดาท่านพุทธบริษัท มีท่านพลอากาศตรี ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์ก่อน เพราะถ้าพร้อมใจกันเมื่อไรแล้วก็จะสำเร็จเพราะของไม่โตนัก แต่ว่าหนักใจเรื่องที่ดินเจ้าของอาจจะเอาแพง เพราะเขาอยู่ในย่านของความเจริญมาก ท่านยกมือไหว้ด้วยความดีใจแล้วก็กลับไป.... เมื่อจะเริ่มก่อสร้างวิหารในเวลาต่อมาท่านก็ได้เดินางไปพิสูจน์ตามที่พระพรหมบอกไว้ ในขณะที่เดินทางมาถึงสามแยกควนเนียง พร้อมทั้งได้เปลี่ยนจากการสร้างเจดีย์เป็นวิหารแทน ในตอนนี้ ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ได้เล่ารายละเอียดไว้ว่า...เมื่อหลวงพ่อรับปากพรหมองค์นี้แล้วพรหมก็บอกจุดที่อยู่ให้ หลวงพ่อพาพวกเราไปดูก็พบว่าจุดที่ตั้งตรงกับที่บอกไว้ทุกประการ แม้แต่เลขที่หลักกิโลเมตร คณะหลวงพ่อจึงมั่นใจมาก จนเกิดความศรัทธาตกลงกันว่าจะสร้างวิหารเล็ก ๆ คลุมพื้นดินตรงจุดนั้นพวกเราจึงลงจากรถเข้าไปติดต่อเจ้าของที่ดินคือคุณยายกิ้มไล่ ชูโตนะ เพื่อจะขอซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินไม่ขายแต่ยินดีที่จะให้หลวงพ่อก่อสร้างพระวิหารได้ตามต้องการ และจะขอนำที่ดินดังกล่าวทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง เมื่อตกลงเรื่องที่ดินเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อจึงแบ่งงานดังนี้
         (๑) พลอากาศโท ม.ร.ว. เสริม และคุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ เป็นหัวหน้ากลุ่มคณะศิษย์จากส่วนกาง รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาได้เงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
        (๒) นายมนตรี ตระหง่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในสมัยนั้นพร้อมด้วย นายเจริญจิตร ณ สงขลา ปลัดจังหวัดสงขลา เป็นหัวหน้ากลุ่มชาวสงขลา รวบรวมเงินได้ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ บาท
       (๓) ร้อยตรี ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ผู้อำนวยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกระบี่ เป็นผู้ประสานงานทั่วไปโดยมีนายช่างจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจังหวัดกระบี่ คือนายณรงค์ ณ ตะกั่วทุ่ง เป็นผู้ออกแบบ และนายปลั่ง ขาวบวง เป็นผู้ควบคุมคนงานก่อสร้าง
        ในการก่อสร้างวิหารครั้งนี้ใช้เงินเฉพาะการซื้อวัสดุอุปกรณ์ส่วนค่าแรงงานและการขนส่งได้อาศัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เขต ๓ การก่อสร้างจึงใช้เงินน้อยกว่าปกติ รวมแล้วเพียง ๒๔๐,๐๐๐ บาท คือเงินจากส่วนกลาง ๒๐๐,๐๐๐ บาทและเงินจากจังหวัดสงขลาเพียง ๔๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือทางคณะศิษย์หลวงพ่อมิได้ติดตามผล และมิได้เกี่ยวข้องด้วยประการใด โดยหลวงพ่อได้สั่งไว้ว่าก่อนจะเริ่มงานก่อสร้างหลวงพ่อจะไปบวงสรวงพรหมผู้คุ้มครององค์พระพุทธรูปทองคำใต้ดิน วันที่มีพิธีบวงสรวง หลวงพ่อฯ พร้อมกับหลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง หลวงปู่ธรรมชัย วัดทุ่งหลวง หลวงปู่ชัยวงศ์ วัดพระบามห้วยต้ม ได้เดินทางไปร่วมพิธีด้วย" หลวงพ่อฯ ได้ให้หลวงปู่ ทั้ง ๓ รูป ตรวจดูพระพุทธรูปโดยหลวงปู่ธรรมชัย ได้ลงนั่งย่อง ๆ ดู ส่วนหลวงพ่อและหลวงปู่รูปอื่น ๆ ได้แต่ยืนดู สักครู่เมื่อการตรวจดูเสร็จสิ้นลงหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่าหลวงปู่ธรรมชัย ถูกนักเลงดีเล่นตลกคือพรหมท่านเอามือมาแกล้งปิดตาหลวงปู่ธรรมชัย ยืนดูไม่เห็นท่านจึงต้องนั่งลงดูจึงเห็น โดยหลวงพ่อเล่าประวัติให้ฟังว่า พระพุทธรูปทองคำองค์นี้เป็นปางมารวิชัย ทำด้วยทองคำเนื้อเก้าคือทองคำบริสุทธิ์เกือบ ๑๐๐% มีขนาดเล็กกว่าพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตร กรุงเทพฯ ประมาณ ๑ ศอก สมัยก่อนได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระอุระ คือที่หน้าอกขององค์พระและสามารถถอดออกมา แล้วประกอบกันได้ถึง ๙ ชิ้น สร้างในสมัยกรุงสุโขทัย มีรวม ๓ องค์ เป็นชุดเดียวกัน องค์ที่ ๓ ปัจจุบันจมอยู่ในแม่น้ำโขง (เรียกกันว่า "พระเจ้าล้านตื้อ")
          เมื่อการก่อสร้างดำเนินไปได้ระยะหนึ่งพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ ได้ถวายพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์(แบบพระพุทธชินราช) ให้เป็นพระประธานในพระวิหารนี้ หลวงพ่อถวายชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระพุทธมหามงคลบพิตร" ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับพระทองคำที่ฝังอยู่ใต้ดิน ในครั้งนี้หลวงพ่อได้เดินทางมาพร้อมกับหลวงปู่สิม และหลวงปู่ธรรมชัย เพื่อทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานพระวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ในวันที่อัญเชิญพระประธานขึ้นไปบนแท่นในวิหารนั้นหลังจากหลวงพ่อทำพิธีเสร็จแล้ว ท่านได้เล่าว่าเมื่อสักครู่นี้พรหมท่านขยับเลื่อนพระใต้ดินให้เข้ามาอยู่ใต้พระประธาน ซึ่งอยู่ในวิหารเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพราะจุดที่ฝังพระไว้ใต้ดินไม่สามารถตอกเสาเข็มลงไปได้ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อพระพุทธรูปใต้ดินหรือห้องใต้ดิน ที่คนสมัยก่อนสร้างเอาไว้ได้พระพุทธรูปองค์นี้สร้างสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีการทำพิธีตรึงแผ่นดินไทยไว้ ทิศเหนือที่เชียงแสนทิศใต้ที่สงขลาเลยเขตนี้ออกไปไม่แน่นอน ยามใดไทยถอยอำนาจลงก็แยกตัวออกไปเป็นประเทศอื่น แต่ว่าสมัยต่อไปภายหน้าพวกดังกล่าวนี้ คือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เป็นต้น และดินแดนเหนือเชียงรายขึ้นไปจะกลับมารวมกับไทยอีกทั้งนี้ เพราะเขาเห็นว่าไทยรวยจะมาช่วยกันใช้เงินของไทย ฉะนั้นต่อไปถึงสมัยที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนดีมีศีลธรรมแล้วพระพุทธรูปองค์นี้ จะขึ้นมาอยู่บนพื้นดินให้คนสักการบูชา เมื่องานก่อสร้างพระวิหารแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เพื่อทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศามาลาของพระพุทธรูป เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ นอกจากพระสงฆ์ที่ร่วมพิธีในวันนั้นนอกจากหลวงพ่อ แล้วยังมีพระสุปฏิปันโน อีก ๗ รูป คือหลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร หลวงปู่บุดดา ถาวโร หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก หลวงปู่ชัยวงศ์ หลวงปู่กล่อม วัดบุปผาราม หลวงปู่มหาอำพัน และหลวงปู่ธรรมชัย ธมฺมชโย

                พระวิหารสมเด็จพระพุทธมหามงคลบพิตร แม้จะมีพื้นที่ขนาดเล็กแต่ร่มรื่น สงบ สะอาด มีทางลงคลองน้ำน้อยสำหรับการปล่อยปลาด้วย มีพื้นที่จอดรถสำหรับพุทธศาสนิกชน วิหารน้ำน้อย ตั้งอยู่ริมถนนกาญจนวณิชย์ มาจากฝั่งหาดใหญ่เลยไฟแดงน้ำน้อยมานิดเดียว ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เปิดให้เข้าชมเข้าสักการะตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๗.๐๐ น. ทุกวัน 


ภาพจาก : http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=2397

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตรน้ำน้อย
ที่อยู่
ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ประวัติ "วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร" ต. น้ำน้อย อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา. (2560). สืบค้น 5 ส.ค. 64, จาก http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=2397
สักการะพระพุทธมหามงคลบพิตร ที่วิหารน้ำน้อย ตามรอยเสด็จในหลวง รัชกาลที่ ๙. (2560). สืบค้น 5 ส.ค. 64, จาก https://travel.gimyong.com/?swp=content&t=911

             


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024