วัดสูงเกาะใหญ่ (Wat Sungkohyai)
 
Back    18/04/2018, 14:26    12,492  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       วัดสูงเกาะใหญ่ ตามชื่อเรียกมีอยู่ ๒ แห่ง ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ ๔ กิโลเมตร แห่งที่หนึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ตามประวัติเล่าว่ามีพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ หรือสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ ส่วนวัดสูงอีกแห่งหนึ่งเป็นที่สำหรับบำเพ็ญภาวนาซึ่งแต่เดิมเป็นที่ฝึกซ้อมมโนราห์ (นางนวลทองสำลีและบุตรเป็นชายเทพสิงขร) แห่งของราชวงศ์ปาฏลีบุตรคู่หนึ่งพร้อมด้วยบริวาร ที่ถูกขับไล่และอพยพข้ามทะเลสาบมาจากเมืองพัทลุง และต่อมาได้กลายเป็นที่ประกอบพิธีของพระสงฆ์ลัทธิหนึ่งในนิกายมหายาน วัดสูงเกาะใหญ่เป็นพุทธสถานที่สร้างในสมัยอยุธยา มีโบราณสถานที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนชาวพุทธในแถบนี้ที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งพบได้ยากมากแล้วใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ วัดสูงเกาะใหญ่เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอีกแห่งหนึ่ง บริเวณที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงมีทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเป็นบันไดซีเมนต์ประมาณ  ๒๐๐ กว่าขั้น เคยเป็นปราสาทหินและเป็นศิลปกรรมที่เชื่อว่าที่นี้เป็นเทวสถานและต่อมาได้ถูกดัดแปลงให้เป็นในพระพุทธศาสนา
      ตำบลเกาะใหญ่ประกอบด้วยหมู่บ้าน ๙ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านทุ่งบัว หมู่ที่ ๒ บ้านอ่าวบัว หมู่ที่ ๓ บ้านไร่ หมู่ที่ ๔ บ้านแหลมบ่อท่อ หมู่ที่ ๕ บ้านยางทอง หมู่ที่ ๖ บ้านแหลมหาด หมู่ที่ ๗ บ้านเกาะใหญ่ หมู่ที่ ๘ บ้านแหลมคูลา และหมู่ที่ ๙ บ้านแหลมชัน พื้นที่ของตำบลเกาะใหญ่จะเป็นเนินเตี้ย ๆ มีสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชผัก ผลไม้ได้เกือบทุกชนิด มีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน มีการประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ เกาะใหญ่ปัจจุบันมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอกระแสสินธุ์ มีลักษณะภูมิประเทศที่แปลกจากบริเวณอื่นที่อยู่รอบ ๆ คือมีเนินเขาอยู่กลางแหลมหลายลูก เกาะใหญ่ไม่ได้เป็นเกาะจริง ๆ แต่เมื่อมองจากทะเลสาบเข้ามาเห็นเป็นเนินเขาอยู่กลางทะเล เพราะมีทะเลล้อมรอบเกือบทุกด้าน ด้านเดียวที่เชื่อมกับแผ่นดินใหญ่คือด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านที่เชื่อมกับแผ่นดินใหญ่แล้วยังมีคลองอีก ๑ สาย ขวางอยู่ตัดแผ่นดินขาดออกจากกัน ดังนั้นจะเรียกเกาะใหญ่ว่าเกาะก็ได้ คลองที่ว่านี้เพิ่งขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หรือร้อยปีเศษมานี้เอง แต่ชื่อเกาะใหญ่ใช้เรียกแผ่นดินพื้นนี้มาก่อนที่จะขุดคลอง เพราะจากหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ที่ระบุว่า

      ...ด้วยพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช มีบอกมาว่า หลวงจรูญภาระการ นายอำเภอปละท่า ได้ขอแรงราษฎรขุดคลอง ตัดแหลมเกาะใหญ่ในทะเลสาบ แขวงเมืองสงขลา ... การขุดคลองนี้แล้วเสร็จแต่วันที่  ๑๒ กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก. ๑๒๒ จึงทำให้ทราบว่าเดิมเกาะใหญ่อยู่ในปกครองของอำเภอปละท่า (อำเภอสทิงพระในปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อมีการตั้งอำเภอระโนด เกาะใหญ่ก็ย้ายไปอยู่ในปกครองของอำเภอระโนด พื้นที่เกาะใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกชุกชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนหมาก สวนผลไม้ และประมงในทะเลสาบ นอกจากนี้เกาะใหญ่ยังเป็นที่ตั้งของอุทยานนกน้ำแหลมลาโพ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าแหลมควายราบ ด้านใต้สุดของเกาะภายในอุทยานจะมีนกน้ำอยู่มากมาย สามารถมองเห็นได้ง่าย โดยไม่ต้องนั่งเรือออกไปดู โดยเฉพาะช่วงเช้าช่วงเย็นจะมีให้ดูมากเป็นพิเศษ เกาะใหญ่จะว่าไปก็เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของทะเลสาบสงขลา ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาตอนเหนือ ห่างจากฝั่งตะวันตกประมาณ ๑๕ กิโลเมตร อาณาเขตเกาะใหญ่ ทิศเหนือ ใต้ ตะวันตก จดทะเลสาบสงขลา ส่วนทางทิศตะวันออกจดคลองยมราช กว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาวจากฝั่งทะเลสาบที่อ่าวทุ่งบัวไปจดฝั่งทะเลสาบที่อ่าวเกาะใหญ่ รวมความยาวคลองนี้ ประมาณ ๒,๕๐๐ เมตร ในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพระสงฆ์นักเผยแผ่ที่สำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบ ๓ รูป ต่อมาภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จ โดยมีสมณศักดิ์นามนำหน้าว่า “สมเด็จราชมุนี“ ประกอบด้วยสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ สมเด็จเจ้าพะโคะ และสมเด็จเจ้าเกาะยอ โดยที่สมเด็จเจ้าทั้ง ๓ รูป เป็นสหายกัน และทั้ง ๓ สมเด็จก็จำพรรษาบนยอดเขาเหมือนกัน ประกอบด้วยยอดเขาเกาะใหญ่ (วัดสูงเกาะใหญ๋) ยอดเขาพะโคะ และยอดเขาเกาะยอ มีบันทึกเล่ากันว่าในสมัยอดีตวัดทั้ง ๓ นั้น มีเจดีย์อยู่ทั้ง ๓ วัด แต่ด้วยกาลเวลาและประกอบด้วยเหตุบางอย่างทำให้เจดีย์ของวัดสูงเกาะใหญ่พังลงมา แต่ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าชาวบ้านได้สร้างพระยืนประดิษฐานไว้ ณ ลานเจดีย์ และบริเวณยังมีร่องรอยของเจดีย์อย่างเห็นได้ชัด
       “บ้านเกาะใหญ่” จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า คนกลุ่มแรกที่เป็นผู้เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเกาะใหญ่ คือสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ ซึ่งอพยพหนีภัยโจรสลัดมลายู มาจากจังหวัดนราธิวาส บ้านเกาะใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา  บ้านเกาะใหญ่เริ่มก่อตั้งเป็นหมู่บ้านมาประมาณ ๓๐๐ ปีมาแล้ว สาเหตุที่เรียกชื่อบ้านว่าบ้านเกาะใหญ่ เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นแหลมที่มีภูเขายื่นติดต่อกับทะเลสาบสงขลา ลักษณะเหมือนเกาะขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียก “บ้านเกาะใหญ่” สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่เป็นชาวบ้านทองบัว เมืองปัตตานี (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลบางลำภู จังหวัดนราธิวาส) สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกิดสงครามในเมือง สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่และพี่น้องได้อพยพจากปัตตานีลงเรือสู่เมืองสงขลา ผ่านเขาแดง เขาเขียว เกาะยอ บ้านป่าขาด และล่องเรือเข้าไปในทะเลสาบสงขลาตอนใน ผ่านเกาะราบ เกาะกระ เกาะสี่เกาะห้า จนถึงเกาะใหญ่ เห็นว่าเกาะใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้นำเรือเข้าจอดและจมเรือสองลำที่นำมาไว้ที่อ่าวท้องบัว ชาวบ้านที่มาด้วยกันได้ช่วยกันตั้งบ้านให้ชื่อว่า“บ้านท้องนำ”(ปัจจุบันคือ “บ้านทุ่งบัว” อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา) สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้สำรวจพื้นที่เพื่อตั้งวัด พบสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเนินสูง จึงได้สร้างวัดขึ้นและก่อกำแพงหินลดหลั่นกัน ๗ ชั้น ให้ชื่อว่า “วัดสูงเกาะใหญ่” เมื่อแรกสร้างอุโบสถสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่นั่งสมาธิใช้พลังจิตยกก้อนหินขนาดใหญ่ไปวางเรียงไว้อย่างมีระเบียบ วิชาอย่างนี้เรียกกันว่า “พลังเสือ” เมื่อสร้างวัดเสร็จสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่บ้านท้องนำ ได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งให้ชื่อว่า “วัดสูงทุ่งบัว” ทำให้ชาวบ้านบริเวณนี้ให้ความเคารพนับถือมาก จึงเรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่” ชาวบ้านเล่ากันต่อ ๆ มาว่า สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่เป็นเพื่อนเกลอกับสมเด็จเจ้าเกาะยอ และสมเด็จเจ้าพะโคะ หลังจากสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่มรณภาพ ความเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงอยู่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

       วัดสูงเกาะใหญ่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๗ ตำบลเกาะใหญ่ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอีกแห่งหนึ่ง บริเวณที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงมีทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออก เป็นบันไดซีเมนต์ประมาณ  ๒๐๐  กว่าขั้น วัดสูงเกาะใหญ่แห่งนี้เป็นสถานที่ ที่สำคัญที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรื่องของพุทธศาสนาในอดีตกาล ตามประวัติกล่าวว่าพระราชมุนีวิปัสสกะญาณโมลี (สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่) หลังจากอพยพขึ้นฝั่งแล้วได้พาพวกชาวบ้านออกสำรวจพื้นที่บนเกาะใหญ่ว่่าที่ใดบ้างที่เหมาะจะสร้างวัด เพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจและได้เจอพื้นที่บนยอดเขาประมาณ ๑๕ ไร่ ตั้งอยู่บนที่ราบเนินเขาสูง ท่านจึงได้สร้างวัดสูงเกาะใหญ่ขึ้น ลักษณะพื้นที่ของวัดสูงเกาะใหญ่นั้นแบ่งเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นจะมีสิ่งก่อสร้าง และเสนาสนะต่าง ๆ เช่น กุฏิ, ศาลา, โรงครัว ส่วนชั้นบนสุดเป็นลานวัดเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ เป็นที่ตั้งของเจดีย์ พระอุโบสถ และวิหาร เมื่อเวลาผ่านมาหลาย ๆ  ๑๐๐ ปี ทำให้ปัจจุบันคงเหลือแค่ฐากของหิน พระอุโบสถเหลือแค่หลักเสมา กับลูกนิมิต ซึ่งสกัดจากหิน วางไว้รอบอุโบสถรวม ๘ หลัก นอกจากนั้นยังมีซากเจดีย์หิน เมื่อประมาณ ๘๐ ถึง ๙๐ ปีที่ผ่านมา มีนักเล่นพระเครื่องได้ไปขุดค้นหาพระเครื่องสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ในรากฐานเจดีย์ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมาก สำหรับทางทิศตะวันออกจะมีบันไดก่อด้วยหินขึ้นสู่วัดบันได เอียงประมาณ ๔๕ องศา หล่อด้วยปูนซีเมนต์ นับได้ ๒๗๒ ขั้น เพื่อใช้เป็นทางขึ้นลง บนวัดสูงเกาะใหญ่มีพระพุทธรูปที่ตกค้างมีอยู่จำนวนมาก ปัจจุบันนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดเกาะใหญ่จนถึงปัจจุบันนี้

บันไดหิน

 บันไดหินที่วัดสูงเกาะใหญ่มีลักษณะเป็นก้อนที่ถูกสกัดให้เป็นแท่งสี่เหลื่ยมและนำมาทำเป็นบันไดทางขึ้นสู่เจดีย์หิน ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเนินดิน

ซากเจดีย์หิน และกำแพงล้อมหินชั้นที่ ๑

พระยืนประดิษฐานไว้ ณ ลานเจดีย์

ภาพจาก : http://ska.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=286:2015-08-21-07-03-51&catid=72:2015-02-13-14-38-27&Itemid=147

      ซากเจดีย์หิน และกำแพงล้อมหิน เจดีย์หินที่วัดสูงเกาะใหญ่ในปัจจุบันเหลือไว้แต่ซากของก้อนหินซึ่งเป็นส่วนประกอบของเจดีย์ ส่วนกำแพงล้อมหินนั้นเมื่อสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้สำรวจพื้นที่เพื่อตั้งวัดเสร็จแล้้ว จึงได้สร้างก่อกำแพงหินลดหลั่นกัน ๗ ชั้น ปัจจุบันเหลือค่อนข้างสมบูรณ์คือกำแพงหินชั้นที่ ๑

วิหารหิน 

วิหารหิน โดยมีกำแพงล้อมชั้นที่ ๒ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปแกนหินทรายฉาบปูน  พระเศียรหักหาย ประทับนั่งขัดสมาธิลักษณะทางพุทธศิลป์เป็นแบบสมัยอยุธยา

ฐานอุโบสถหิน

ภาพจาก : https://www.facebook.com/ที่นี้เกาะใหญ่-สวยสุดแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา-1449295491850886/?tn-str=k*F

       พระอุโบสถหินซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขา ปัจจุบันเหลือแค่ฐานอุโบสถหิน สร้างโดยใช้ก้อนหินขนาดใหญ่สกัดเรียบทั้ง ๔ ด้าน เรียงซ้อนกันแบบสนิทโดยไม่ได้สอปูน ซึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ กับปราสาทหิน ตัวอุโบสถมีความกว้างประมาณ ๕ เมตร  ยามประมาณ ๑๐ เมตร ผนังทั้ง ๔ ด้าน ยังคงสภาพเดิมอยู่ซึ่งสูงประมาณ ๒ เมตร ส่วนบนและหลังคาไม่มี ช่องประตูมีอยู่ ๒ ช่อง ไม่มีบานหน้าต่างหรือช่องระบายลม ความหนาของผนังประมาณ ๖๐ ซม. และไม่มีลวดลายใด ๆ มีบรรไดหินขึ้นอยู่ทางตอนหน้า มีแท่นหินสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่บริเวณตอนในสุดของผนังล้อมรอบด้วยซากใบเสมาหินจำนวน ๘ อัน ลักษณะทางสถาปตยกรรมที่สำคัญของวัดแห่งนี้คือเทคนิคการสร้างโดยใช้วัสดุที่มากมากในท้องถิ่นนั่นคือหิน ที่ได้จากภูเขามาทำการก่อสร้าง ซึ่งนับได้ว่าพระอุโบสถที่แปลกกว่าที่อื่น ๆ จึงนับได้ว่าที่ตั้งของวัดสูงเกาะใหญ่แห่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่าง ๒ ฝั่งทะเลสาบได้แก่สงขลากับพัทลุง จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าวัดแห่งนี้น่าจะเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของชุมชนลุ่มทะเลสาบสงขลาด้วย

ภาพจาก : https://www.facebook.com/ที่นี้เกาะใหญ่-สวยสุดแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา-1449295491850886/?tn-str=k*F​​​​​​​


ปูชนียวัตถุ

พระพุทธรูปและศิลปวัตถุอื่น ๆ 

พระพุทธรูปแกนหินทรายฉาบปูน

กรงล้อพระธรรมจักร


ปูชนียบุคคล

สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่

       สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่เป็นชาวบ้านทองบัว เมืองปัตตานี (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลบางลำภู จังหวัดนราธิวาส) สมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อเกิดสงครามในเมือง สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่และพี่น้องได้อพยพจากปัตตานีลงเรือสู่เมืองสงขลา ผ่านเขาแดง เขาเขียว เกาะยอ บ้านป่าขาด และล่องเรือเข้าไปในทะเลสาบสงขลาตอนใน ผ่านเกาะราบ เกาะกระ เกาะสี่เกาะห้า จนถึงเกาะใหญ่ เห็นว่าเกาะใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้นำเรือเข้าจอดและจมเรือสองลำที่นำมาไว้ที่อ่าวท้องบัว ชาวบ้านที่มาด้วยกันได้ช่วยกันตั้งบ้านให้ชื่อว่า“บ้านท้องนำ”(ปัจจุบันคือ “บ้านทุ่งบัว” อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา) สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้สำรวจพื้นที่เพื่อตั้งวัด พบสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเนินสูง จึงได้สร้างวัดขึ้นและก่อกำแพงหินลดหลั่นกัน ๗ ชั้น ให้ชื่อว่า “วัดสูงเกาะใหญ่” เมื่อแรกสร้างอุโบสถสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่นั่งสมาธิใช้พลังจิตยกก้อนหินขนาดใหญ่ไปวางเรียงไว้อย่างมีระเบียบ วิชาอย่างนี้เรียกกันว่า “พลังเสือ” เมื่อสร้างวัดเสร็จสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่บ้านท้องนำ ได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งให้ชื่อว่า “วัดสูงทุ่งบัว” ทำให้ชาวบ้านบริเวณนี้ให้ความเคารพนับถือมาก จึงเรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่” ชาวบ้านเล่ากันต่อ ๆ มาว่า สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่เป็นเพื่อนเกลอกับสมเด็จเจ้าเกาะยอ และสมเด็จเจ้าพะโคะ หลังจากสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่มรณภาพ ความเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงอยู่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ที่ประทับสมเด็จเจ้า

เหรียญสมเด็จเจ้า รุ่น ๑


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดสูงเกาะใหญ่ (Wat Sungkohyai)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๗ ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.569316
ลองจิจูด
100.302532



บรรณานุกรม

บุญชู ยืนยงสกุล, (บรรณาธิการ). (2547). ใต้--หรอยมีลุย :  บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. สงขลา :

          ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้.

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัด

        สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์.

เพจที่นี้เกาะใหญ่สวยสุดแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา. (2561). สืบค้นวันที่ 28 พ.ค. 61, จาก https://www.facebook.com/ที่นี้เกาะใหญ่-สวยสุดแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

          -1449295491850886/?tn-str=k*F

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สงขลา. (2558). วัดสูงเกาะใหญ่ (ร้าง). สืบค้นวันที่ 28 พ.ค. 61, จาก http://ska.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=

         article&id=286:2015-08-21-07-03-51&catid=72:2015-02-13-14-38-27&Itemid=147


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024