ภาพจาก : อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ฅ, 2556 : 23
ประเพณีสวดด้านเป็นประเพณีสําคัญและเก่าแก่ประเพณีหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางด้านพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ประเพณีสวดด้านหมายถึงการอ่านหนังสือร้อยกรอง (ซึ่งชาวนครศรีธรรมราชเรียกการสวดหนังสือ) ประเภทนิทานต่าง ๆ ที่เป็นนิทานพื้นเมืองที่กวีชาวนครเป็นผู้แต่งขึ้น การสวดหรือการอ่าน จะสวด (อ่าน) ด้วยภาษาพื้นเมือง (ภาษาถิ่น) นครศรีธรรมราช การสวดหรือการอ่านหนังสือร้อยกรองประเภทนิทานภายในวิหารคดวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในวันธรรมสวนะ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ระหว่างรอพระมาแสดงพระธรรมเทศนา ซึ่ง การสวดหนังสือหรือสวดด้านนี้นับเป็นใช้เวลาให้เกิดประโยชน์และจิตเป็นสมาธิ การสวดด้านรอบ ๆ พระระเบียงหรือวิหารคด ทั้ง ๔ ด้าน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวน ๑๗๓ องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้เรียกว่าพระด้าน การสวดหนังสือกระทําบริเวณที่ประดิษฐานพระด้านจึงเรียกว่า “สวดหนังสือที่พระด้าน”
ภาพจาก : อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ฅ, 2556 : ๒๔
การประกอบพิธี
การสวดด้านเริ่มขึ้นเมื่อทุกคนพร้อมกันที่พระระเบียงในวันพระเพื่อฟังพระเทศน์และในขณะที่รอพระอยู่นั้นก็มีการสวดด้านก่อน การสวดด้านมีวิธีการทํานองเดียวกันกับการสวดโอ้เอ้วิหารรายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร แต่ต่างกันที่เรื่องที่ใช้สวดกล่าวคือการสวดโอ้เอ้วิหารรายจะสวดหนังสือเพียงเรื่องเดียวคือ “มหาชาติคําหลวง” ซึ่งเป็นหนังสือชาดก ส่วนการสวดด้านมีเรื่องที่ใช้สวดหลายเรื่อง คนสวดก็เป็นคนที่สวดหนังสือเก่ง ๆ และสวดหนังสือดี ๆ ที่เป็นที่นิยมชมชอบของที่ประชุม หนังสือที่เลือกมามักเป็นหนังสือชาดก สํานวนกวีเมืองนคร และเรื่องอื่น ๆ ที่กวีเมืองนครเป็นผู้เขียน เช่น สุบิน วันคาร ทินวงศ์ สี่เสาร์ กระต่ายทอง พระรถเสน (ของนายเรือง นาใน) เรื่องเสือโดคําฉันท์ (ของ พระมี) เป็นต้น โดยผู้สวดด้านจะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการสวดอย่างยิ่ง กล่าวคือต้องรู้จักเน้น เสียง รู้จักเล่นลูกคอ รู้จักเล่นท่าทางประกอบในตอนที่จาเป็นเช่นการใช้สีหน้า การโยกตัว และการประกอบท่าทาง บางครั้งคนสวดเป็นนักเทศน์เก่า นักแหล่ หมอทําขวัญนาค ครู มาลัย นายหนังตะลุง โนราเก่า หรือเพลงบอกก็ยิ่งเป็นที่ติดอกติตใจของผู้ฟังมากแม้กระทั่ง คนเฒ่าคนแก่ที่ไม่รู้หนังสือก็สามารถจําบทกลอนในหนังสือได้ตลอดเล่ม หรือหลาย ๆ เล่ม บทกลอนต่าง ๆ ที่คนเฒ่าคนแก่ถ่ายทอดให้เราฟังในปัจจุบันก็มาจากการฟังสวดด้าน สําหรับผู้สวดด้านเมื่อสวดจบก็จะได้รับเงินรางวัลหรือได้รับเลี้ยงข้าวปลาอาหาร
ตัวอย่างบทสวดเรื่องสุบิน บทกวีของชาวนคร ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยม สูงสุดของผู้ฟังสวดค้าน และเป็นแบบเรียนของชาวนครมาแต่เดิม
บทไหว้ครู |
ข้าขอถวายบังคม ยอกรประนมขึ้นเหนือเศียร ต่างดอกประทุมเทียน |
บริสุทธบูชา วรบาทพุทธกงจักร และลายลักษณ์ทั้งซ้ายขวา ประเสริฐงามโสภา |
ยิ่งกว่าเขียนด้วยน้ําทอง วรบาทพระชินสีห์ สร้างบารมีมากก่ายกอง หวังจะโปรดสัตว์ทั้งผอง |
ให้จากโทษและโพยภัย ขอนบพระปิฏกสัจจธรรม อันลึกล้าฟันอุปมัย พระสูตรพระวินัย |
พระปรมัตถ์มากเหลือตรา บทเริ่มเนื้อเรื่อง |
ปางโพ้นพระโพธิสัตว์ องค์หนึ่งสันทัด ธนศรศรี กล้าหาญชาญณรงค์ ทรง อิทธิฤทธิ์ ครองเมืองสาวัตถี เป็นเอกกรุงไกร |
มีบาทบริจา รูปโฉมโสภา สิบห้าปีใหม่ ผิวเนื้อเหลืองขมิ้น กลิ่นหอมเอาใจ เกษาประไพ ไรเกษตลากัน |
พระพักตร์ฝั่งผาด งามจริงยิ่งวาด คิ้วก้อมเกาทัณฑ์ เนตรคือตาทราย พรายแสง เมลืองมัน ระใบพระกรรณ ปานกลีบอุบล |
การวิวัฒนาการของประเพณีสวดด้าน
จากคําบอกเล่าของผู้รู้ กล่าวว่าปัจจุบันนี้ประเพณีเก่า ๆ ที่เกี่ยวกับการสวดด้านและประเพณีในวันพระที่ปฏิบัติมาแต่โบราณ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก กล่าวคือในสมัยโบราณเมื่อจะมาฟังเทศน์ฟังธรรมในวัด ทุกคนจะชนทรายมาถมในวัดด้วยทีละเล็กทีละน้อยทุกคราวไป เป็นอันว่าในวัดจะมีกองทรายเต็มไปหมด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าตอนจะออกจากวัดทรายจะติดเท้าออกไป หากไม่ชนทรายมาทดแทนก็จะเป็นบาป ครั้นถึงตอนเสร็จกิจแล้วก่อนกลับบ้านก็ต้องถอนหญ้าภายในวัดติดมือไป ทั้งนอกวัดด้วย แต่ต่อมาข้อปฏิบัติเหล่านี้มิได้กระทํากัน ส่วนการสวดด้านก็เปลี่ยนไปจากเดิมหลายประการ กล่าวคือในสมัยต่อมามีการสวดทั้งในพระด้านและที่วิหารทับเกษตร เรื่องที่ใช้สวดก็เปลี่ยนไปจากเดิมคือสมัยหลัง ไม่ได้สวดหนังสือบุด แต่กลับนิยมสวดหนังสือที่พิมพ์โดยโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ วัดเกาะ โดยเช่ามาจากบ้านนายปลอด ในราคา ๔ เล่ม ๕ สตางค์ เรื่องที่สวดมีหลายเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ พระอภัยมณี สุวรรณศิลป์ สังข์ทอง ส่วนพระที่มาเทศน์ก็แบ่งกันเป็นวัด ๆ วัดละด้าน วัดที่มาเทศน์ เช่น วัดสวน หลวง วัดหน้าพระธาตุ วัดหน้าพระลาน และวัดสระเรียง ครั้นต่อมาพระที่มาเทศน์มีน้อยลงเรื่อย ๆ ธรรมมาสน์ในพระด้านและในวิหารทับเกษตรก็ลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน ปัจจุบันการสวดด้านแทบไม่มีให้เห็นแล้ว
ประเพณีสวดด้าน (การสวดหนังสือ) มีความหมายถึงการอ่านหนังสือร้อยกรองโดยใช้สำเนียงภาษาพื้นเมือง อ่านออกเสียงเป็นทำนองตามบทร้อยกรอง ด้าน หมายถึง ด้านต่าง ๆ รอบของพระวิหารคด หรือพระระเบียงรอบพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งมี ๔ ด้าน พระด้าน หมายถึง พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารคดทั้งสี่ด้านมีจำนวนทั้งหมด ๑๗๓ องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้เรียกว่าพระด้าน สวดด้านหมายถึงการสวดหนังสือที่ระเบียงด้านต่าง ๆ ทั้งในวิหารคดและวิหารทับเกษตร ในส่วนที่ประดิษฐานธรรมาสน์สำหรับพระภิกษุสงฆ์นั่งเทศนาวันธรรมสวนะ แต่ตามนิสัยของชาวนครศรีธรรมราชชอบพูดคำสั้น ๆ จึงตัดคำออกเหลือเพียงสวดด้าน สวดด้านจึงเป็นประเพณีการอ่านหนังสือร้อยกรองประเภทนิทานนิยายของชาวนครศรีธรรมราชเพราะในวันธรรมสวนะ พุทธศาสนิกชนจะมักทำบุญฟังธรรมกัน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารกันมาก ซึ่งถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ สถานที่ที่จัดให้ภิกษุสงฆ์มาเทศนาคือ ในวิหารคดหรือพระระเบียง ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า “ด้าน” การเทศน์ของพระภิกษุสงฆ์จะมีด้านละหนึ่งธรรมาสน์เป็นอย่างน้อย การไปฟังเทศน์ฟังธรรมชาวบ้านจะต้องเตรียมตัวไปนั่งรอที่พระระเบียงก่อนที่พระสงฆ์จะไปถึง ในขณะที่นั่งรอบางคนก็พูดคุยสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ บางคนก็มีเรื่องราวมาบอกเล่าสู่กันฟัง บางคนนั่งอยู่เฉย ๆ ทำให้น่าเบื่อ ในที่สุดจึงเกิดความคิดเห็นพ้องกันว่าควรจะหาหนังสือมาสวดจนกว่าพระจะมา เทศน์ เพื่อจะได้ฟังกันได้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้เป็นคติสอนใจ จึงเกิดประเพณีสวดด้านขึ้น ระยะเวลา การสวดด้านจะมีเฉพาะในวันพระหรือวันธรรมสวนะ (ขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ และขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ) เวลาก่อนเพล ก่อนพระสงฆ์จะขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมเทศนาให้พุทธศาสนิกชนฟังที่พระระเบียง ทั้ง ๔ ด้านในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร การสวดด้านจะสวดทั้ง ๔ ด้านของพระระเบียง ดังนั้นคนสวดด้านจะต้องพยายามแสดงความสามารถในการสวดมาก เพราะหากสวดไม่เป็นที่น่าพอใจของผู้ฟังจะทำให้คนเบื่อหน่าย ดังนั้นคนสวดแต่ละคนจึงต้องแสดงความสามารถในเชิงสวดให้ปรากฏด้วย ลักษณะหนังสือที่ใช้สวดด้าน หนังสือที่เป็นที่นิยมของคนฟังส่วนใหญ่ มักเป็นหนังสือนิทานชาดกที่เขียนเป็นร้อยกรองและหนังสือนิทานพื้นเมืองเรื่องต่าง ๆ ที่กวีพื้นเมืองแต่งขึ้น ประเพณีสวดด้านปัจจุบันสูญหายไปตามความเจริญในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็ยังคงมีการเทศนาของพระสงฆ์อยู่ แต่มักจะแบ่งการเทศน์ออกเป็นวัดละด้าน ต่อมาพระที่มาเทศน์น้อยลงเรื่อย ๆ ในปัจจุบันจะมีพระเทศน์ในพระด้านอยู่เพียงธรรมมาสน์เดียว
ปรีชา นุ่นสุข และเปรมจิต ชนะวงศ์. (2525). ประเพณีสวดด้าน : ประเพณีประจําวัดพระมหาธาตุฯ. นครศรีธรรมราช : กรุงสยามการพิมพ์,.
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. (2556). อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้. นครศรีธรรมราช :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
Namo. (2554). สวดด้าน เมืองคอน. สืบค้น 24 กันยายน 63, จาก www.thammasatu.net/forum/index.php?topic=10052.0