ภาพจาก : ชวน เพชรแก้ว, 2537, 47
ในจังหวัดของภาคใต้นั้นแต่เดิมเมื่อมีงานศพที่ใดมักมีประเพณีของสังคมที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างเป็นแบบแผนและต่อเนื่อง คือการสวดมาลัย การสวดมาลัยคือการตั้งวงกันขึ้นมาเพื่ออ่านหนังสือพระมาลัย ที่เป็นกวีนิพนธ์ร้อยกรองด้วยท่วงทํานองการอ่านที่มีลักษณะเฉพาะ การสวดชนิดนี้ใช้สวดเฉพาะตอนกลางคืนหลังจากสร็จพิธีสงฆ์แล้ว เป็นการสวดทํานองเดียวกับที่ภาคกลางเรียกว่าสวดคฤหัสถ์ การสวดมาลัยแต่เดิมมุ่งตักเตือนอบรมจิตใจของผู้ฟังให้เห็นชัดถึงผลของการกระทําความดีและผลของการกระทําความชั่ว รวมถึงการปฏิบัติตนในสังคมให้มีความสุขที่แท้จริงอย่างสงบ นอกจากมีจุดมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอนแล้ว ยังมุ่งหมายเพื่อจะได้ร่วมกันชุมนุมอยู่เฝ้าศพมิให้งานศพเงียบเหงา เนื่องจากในงานศพของชาวภาคใต้โดยเฉพาะงานศพสด (ศพที่จัดพิธีกรรมหลังจากถึงแก่กรรมแล้วทันทีโดยไม่ต้องเก็บศพไว้จัดพิธีภายหลัง ถ้าเก็บศพจัดพิธีภายหลังเรียกว่าศพแห้ง) แล้วจะห้ามมิให้มีมหรสพใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้การสวดมาลัยจะช่วยให้เจ้าของบ้านหรือญาติของผู้ตายไม่ต้องเศร้าโศกจนเกินไปอีกด้วย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าการสวดมาลัยเริ่มมีตั้งแต่สมัยใด ชาวบ้านที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่อายุประมาณ ๘๐-๙๐ ปี ในท้องที่อําเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่าสมัยที่ยังเป็นเด็กอยู่การสวดมาลัยในพื้นที่อําเภอไชยา และอําเภออื่น ๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีแพร่หลายมาก มีงานศพที่ใดจะมีการสวดมาลัยที่นั้น และจะมีผู้ฟังการสวดมาลัยเป็นจํานวนมาก ๆ เสมอ สําหรับผู้สวดแต่เดิมจะมีเฉพาะพระภิกษเท่านั้น บทที่ใช้สวดคือหนังสือมาลัยซึ่งบันทึกไว้ในสมุดข่อยหรือสมุดไทยขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่าพระมาลัยคำสวด หนังสือนี้เป็นกวีนิพนธ์ร้อยกรอง ตัวอักษรที่ใช้บันทึกเป็นอักษรขอมไทย มีขอมบาลีแทรกอยู่บ้าง ในหนังสือมีภาพประกอบที่ประณีตสวยงามมาก พระมาลัยที่ใช้สวดกันแต่เดิมโดยผู้สวดคือพระภิกษุมีเนื้อเรื่อง กล่าวถึงพระมาลัยว่าเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งมีฤทธิ์มาก เคยไปโปรดสัตว์นรกและเทศนาสั่งสอนประชาชนทั่วไปให้ปฏิบัติดีเพื่อหลีกเลี่ยงการตกนรก วันหนึ่งพระมาลัยรับดอกบัวจากชายยากจนคนหนึ่ง แล้วนําดอกบัวนั้นไปบูชาพระเจดีย์จุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั่นพระมาลัยได้สนทนากับพระอินทร์และได้ถามพระอินทร์เรื่องการประกอบกรรมดี พระศรีอาริย์ได้ร่วมสนทนาด้วยโดยไต่ถามความเป็นไปในโลกมนุษย์ ซึ่งพระศรีอาริย์เทศน์สอนพระมาลัยว่าเมื่อศาสนาของพระพุทธองค์สิ้นสุด ๕,๐๐๐ ปี แล้ว พระองค์จะเสด็จมาประกาศศาสนาของพระองค์ ผู้ที่จะเกิดในศาสนานี้ได้จะต้องทําบุญด้วยการฟังเทศน์คาถาพันให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เป็นต้น เมื่อหมดสมัยศาสนาของพระพุทธองค์จะเกิดกลียุคอายุคนทั้งโลกจะสั้นมาก คนจะไม่ละอายต่อบาป ครั้นผ่านกลียุคก็จะบังเกิดความอุดมสมบูรณ์ไปทั่ว ระยะนี้เองที่พระศรีอาริย์จะมาโปรดให้ทุกคนตั้งมั่นในความดี พระมาลัยได้นําเรื่องที่พระศรีอาริย์เทศน์สอนนั้นลงมาเล่าแก่ประชาชนในชุมพูทวีปอีกทอดหนึ่ง ส่วนชายยากจนผู้ถวายดอกบัวเมื่อสิ้นชีพแล้วผลบุญจากการถวายดอกบัวทําให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ชื่อว่าอุบลเทวินทร์ มีดอกบัวรองรับทุกก้าวที่เดินไป
การสวดมาลัยแต่เดิมพระผู้สวดมีจํานวน ๔ รูป จะสวดบทมาลัยหลังจากพิธีสงฆ์เสร็จแล้ว เมื่อเริ่มสวดพระผู้สวดใช้ตาลปัตรบังหน้า ทํานองสวดเป็นแบบสรภัญญะ เนื้อหาที่สวดจะเริ่มจากบท “ในกาล” ไปจนกระทั่งจบเนื้อหา เนื่องจากการสวดมาลัยแบบนี้มุ่งเนื้อหาสาระในเชิงอบรมสั่งสอนไม่มุ่งที่ความสนุกสนานเป็นเรื่องหลัก ในระยะต่อมาผู้ฟังจึงไม่ค่อยนิยมกันนักเมื่อเป็นเช่นนี้การสวดมาลัย จึงเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของผู้สวดและเนื้อหาที่สวด คือผู้สวดแทนที่จะเป็นพระภิกษุ ก็เปลี่ยนมาเป็นชาวบ้าน (คฤหัสถ์) ส่วนเนื้อหาก็เพิ่มเติมเนื้อหาอื่น ๆ แทรกเข้าไปนอกเหนือจากเรื่องพระมาลัย จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ทําให้การสวดมาลัยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในระยะเวลาต่อมา ประเพณีการสวดมาลัยใช้สวดในงานศพเท่านั้น แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้สวดมาลัยจะรับปากไปสวดทุกงานศพ ในเรื่องนี้ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า ผู้สวดจะรับไปสวดเฉพาะงานศพที่ผู้ตายตายโดยปกติวิสัยเท่านั้น หากถูกลอบฆ่าตายหรือตายโดยถูกสัตว์ร้ายทําอันตรายหรือตกจากที่สูงหรือตายขณะที่มีอายุน้อยเกินไป ฯลฯ วงมาลัยหรือผู้สวดมักจะหาข้ออ้างหาเหตุผลหลบเลี่ยงไม่ยอมไปสวดให้ ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อว่าผู้ที่ตายอย่างผิดปกติวิสัยเป็นอัปมงคลแก่วงมาลัยหรือผู้สวด แต่เดิมมาการสวดมาลัยไม่มีดนตรีประกอบ ต่อมาในระยะหลังการสวดมาลัยใช้เครื่องดนตรีบางอย่างเข้ามาบรรเลงด้วย เช่น ฉิ่ง ขลุ่ย และร่ามะนา ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าเครื่องดนตรีโดยเฉพาะขลุ่ยช่วยเร้าอารมณ์โศกเศร้าให้เกิดกับผู้ฟังได้อย่างดี ส่วนฉิ่งและรํามะนาใช้สําหรับให้จังหวะเพื่อความสะดวกแก่ต้นเพลงหรือแม่คู่และลูกคู่ ในการสวดมาลัยครั้งหนึ่ง ๆ จะมีจํานวนผู้สวด ๔ คน แต่เดิมมีตาลปัตรบังหน้าทุกคนจะมีอยู่ ๒ คนที่ ทําหน้าที่เป็น “แม่คู่” หรือต้นเพลง หรือแม่เพลงนั้นเอง ส่วนที่เหลือเป็น “ลูกคู่" ซึ่งมีหน้าที่รองรับการสวดของแม่คู่ ในการสวดแม่คู่จะนั่งหันหลังให้โลงศพส่วนลูกคู่จจะนั่งหันข้างให้โลงศพ ทั้งแม่คู่และลูกคู่จะแต่งกายตามความสะดวก แต่จะไม่เน้นแต่งสีฉูดฉาด ส่วนใหญ่จะสวมเสื้อสีดํา สีน้ำเงินหรือสีขาว เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าภาพ นอกจากนี้อาจจะมีอุปกรณ์บางอย่างที่ใช้ในการสวดด้วยคือผ้าซับเหงื่อ หัวโล้น หน้ากาก หนวด เขี้ยว สังข์ แว่นตา หวี และแป้งผัดหน้า อุปกรณ์เหล่านี้จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่แสดงในแต่ละตอน ต่อมาในระยะหลังการสวดมาลัยไม่ค่อยเคร่งครัดตามที่ปฏิบัติมาแต่เดิม มีวงมาลัยที่มีผู้สวดเป็นผู้หญิงเกิดขึ้นจํานวนผู้สวดจะมีกี่คนก็ได้ การนั่งก็ไม่ค่อยกําหนดว่าใครจะนั่งตําแหน่งไหน มักนั่งล้อมวงกันหน้าศพตามความสะดวก ไม่มีตาลปัตรใช้ตั้งแต่ก่อนมีการผลัดกันร้องผลัดกันรับหรือไม่ก็ต่อกลอนกันไปทั้งวง การสวดมาลัยที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปมีขั้นตอนหรือลำดับคือ
- จัดหมากพลู ธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย | |||||||||||||
- ตั้งนะโม ๓ จบ เพื่อสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย | |||||||||||||
- การไหว้คุณ คือไหว้ครูอาจารย์และสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น
|
- สวดบทในกาล อันเป็นบทเริ่มเรื่องในหนังสือพระมาลัย เหตุที่เรียกบทในกาลก็เพราะว่าคําขึ้นต้นของบทสวดตอนนี้ใช้ว่า “ในกาลอันลับล้น” เนื้อหาของบทนี้จะเป็นการเล่าประวัติของพระมาลัยเกี่ยวกับการโปรดสัตว์นรก มนุษย์ การบูชาพระเจดีย์ จุฬามณีในสวรรค์ การสนทนากับพระอินทร์ และพระศรีอาริย์ การแจกแจกรรมและโทษทัณฑ์ที่ได้รับจากการ ประพฤติชั่วดังความว่า
|
||||||||||||||||||||||||||||
- สวดบทลำนอก หรือที่เรียกว่าบทเบ็ดเตล็ด การแทรกบทลํานอกเข้ามาก็เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้เกิดความสนุกสนาน ผู้เล่นจะสรรหาเนื้อหาสาระหรือเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยการนํามาจากวรรณกรรมพื้นบ้านบ้าง วรรณคดีบ้างหรือคิดขึ้นเองบ้าง วรรณกรรมพื้นบ้านที่นิยมนํามาแทรกได้แก่เรื่องนายทน-นางบัวโทน และเรื่องสุบินกุมาร ส่วนวรรณคดีน่ามาจากหลายเรื่อง เช่น ขุนช้าง-ขุนแผน พระอภัยมณี รามเกียรติ์ อิเหนา ลักษณาวงศ์ จันทโครพ ใคบุด และสาวเครือฟ้า เป็นต้น การสวดบทลํานอก ท่วงทํานองการสวดที่ใช้อาจจะเป็นเพลงลําตัด เพลงฉ่อย เพลงนา หรือทํานองเพลงไทยเดิม เช่น สร้อยสนตัด พัดชา แขกมอญ และลาวเสี่ยงเทียน เป็นต้น บางท้องถิ่นเรียกบทลํานอกนี้ว่า “บทยักมาลัย คือถือว่าเป็นการพลิกแพลงตามความถนัดและความสามารถของผู้สวด ตัวอย่างบทลํานอกจากวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องนายทน-นางบัวโทน นายทนเป็นคนโฉด ครั้นเพื่อนโกรธพูดยันชั้น
ตัวอย่าง...บทลำนอกที่ผู้สวดคิดขึ้นเอง
|
ในการสวดบทลํานอกผู้สวดมักจะแต่งตัวให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่นํามาสวดนั้น ๆ อุปกรณ์ที่กล่าวถึงในตอนต้นก็จะนํามาใช้ในการสวดตอนนี้ นอกจากนี้ระหว่างการสวดบทลํานอกบางบทจะมีบทเจรจาแทรกเป็นตอน ๆ และจะมีการแสดงท่าทางหรือร่ายรําประกอบเนื้อหาที่สวดด้วย การสวดลํานอกจะสวดไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งรุ่งเช้า ก็จะหยุดสวด ในการสวดมาลัยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า จะต้องใช้สวดในงานศพและศพที่ผู้สวดจะไปสวดจะต้องเป็นศพที่เสียชีวิตตามปกติ ผู้สวดจะต้องเป็นผู้ชายและการสวดจะต้องสวดในเวลากลางคืนเท่านั้น นอกจากนี้การฝึกหัดสวดมาลัยจะต้องไปฝึกหัดสวด หรือซักซ้อมนอกบ้านเช่นที่ศาลาในป่าช้า ชายป่า กลางทุ่งนา ในวัด ขนํานา หรือโรงนา จะไม่นํามาฝึกสวดหรือซักซ้อมที่บ้าน เพราะเชื่อว่าจะเป็นเสนียดจัญไรแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้ผู้สวดมาลัยเมื่อเดินทางกลับไปถึงบ้านจะต้องอาบน้ำชําระร่างกายให้สะอาดเสียก่อนที่จะขึ้นบ้านเรือนของตน ประเพณีการสวดมาลัยเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน การนําเรื่องพระมาลัยมาใช้สวดในงานศพนับเป็นการให้สาระแก่ชีวิตที่สอดคล้องกับความเชื่อของพุทธศาสนิกชน เป็นทางหนึ่งที่ช่วยอบรมจิตใจผู้ฟังให้เห็นถึงผลแห่งการกระทําความดีความชั่ว โดยมีศพเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ตายว่าเป็นอย่างไร ควรแก่การยึดถือเป็นแบบอย่างหรือไม่เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ฟังการสวดมาลัย ก็สามารถที่จะนําไปใช้ปฏิบัติตนในสังคมให้มีความสุขสงบที่แท้จริงได้ อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการสวดมาลัยใช้สวดเฉพาะในเวลากลางคืน และสวดหลังจากที่พิธีสงฆ์เสร็จสิ้นแล้ว จุดประสงค์ที่เห็นได้ชัดก็คือในเวลาดังกล่าวแขกเหรื่อที่มาร่วมงานจะพากันกลับบ้าน จะเหลืออยู่เฉพาะผู้คุ้นเคยหรือญาติมิตรที่สนิทสนมจํานวนหนึ่งเท่านั้น การสวดมาลัยจึงมีส่วนช่วยให้งานศพไม่ว้าเหว่เหียบเหงา ช่วยปลุกปลอบใจให้เจ้าของบ้านไม่ตกอยู่ในความโศกเศร้าจนเกินไป นอกจากนี้สภาพตอนกลางคืนที่เงียบสลัดจะช่วยให้การสวดมีความไพเราะยิ่งขึ้น ผู้ฟังจะได้รับอรรถรสเข้าไปโดยปราศจากสิ่งรบกวนอื่น ๆ ในกรณีที่ว่าผู้สวดมีเฉพาะผู้ชายเท่านั้นประเด็นนี้น่าจะชี้ให้เห็นว่าการสวดมาลัย ซึ่งสวดในเวลากลางคืนจนกระทั่งรุ่งสาง จึงไม่เหมาะไม่ควร (สมัยต่อมาได้เปลี่ยนไป) ที่จะให้ผู้หญิงร่วมสวดประเภทนี้ เพราะสังคมชาวภาคใต้ค่อนข้างจะเคร่งครัด ที่จะให้ผู้หญิงควรอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนโดยเฉพาะในยามวิกาล ในส่วนของการฝึกหัดหรือซักซ้อมการสวดมาลัย ซึ่งห้ามกระทําที่บ้านและการที่ผู้สวดมาลัยต้องอาบน้ําชาระร่างกายให้สะอาดก่อนที่จะขึ้นบ้านเรือนของตนนั้น ในประเด็นนี้น่าจะเกี่ยวพันอยู่กับความเชื่อเรื่องสิ่งที่ไม่เป็นมงคล กล่าวคือพฤติกรรมที่เป็นข้อห้ามดังกล่าวเกี่ยวข้องอยู่กับศพ หรือผี ซึ่งชาวภาคใต้มีความเชื่อว่าอาจจะนําสิ่งไม่ดีมาสู่บุคคลและครอบครัวได้จึงให้ละเว้นดังกล่าว นอกจากนี้อาจจะมุ่งให้เห็นว่าการสวดมาลัยเป็นเรื่องสําคัญเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ที่บุคคลโดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องมิได้ จึงได้มีข้อห้ามเช่นนี้ขึ้นมายึดถือปฏิบัติกันมาในอดีตแทบทุกงานศพ แต่สําหรับในปัจจุบันประเพณีนี้หาดูได้ยากขึ้นทุกที่ทั้งนี้เพราะว่าในงานศพมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้กันมากขึ้น มีการเปิดเทปบันทึกเสียง ซีดี วีดีทัศน์ที่มีทํานองเศร้าโศกสะเทือนใจ ตามแบบของชาวภาคกลางมีอยู่แทบทุกงาน การสวดมาลัยผู้สวดมักเป็นสวดแบบสมัครเล่นเพราะจะยึดถือเป็นอาชีพหลักนั้นไม่ได้ ในส่วนของการสืบทอดการสวดมาลัยต้องจดจําบทเพลง ต้องฝึกฝนจนแม่นยําทั้งเนื้อร้องและทํานอง ต้องเป็นผู้รอบรู้ประเด็นต่าง ๆ เหตุและปัจจัยเหล่านี้ทําให้ขาดผู้สนใจที่จะสืบทอดการสวดมาลัยอย่างจริงจัง นอกจากนี้ประเพณีดังกล่าวต้องเกี่ยวข้องอยู่กับศพ กรอปความกลัวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี เรื่องเสนียดจัญไรก็มีผลต่อผู้ที่จะสืบทอดด้วย การสืบทอดจึงจํากัดอยู่ในวงแคบ ๆ สิ่งที่ควรพิจารณาสําหรับการอนุรักษ์ส่งเสริมหรือเผยแพร่ที่เพิ่มเติมเข้ามา คือการที่เมื่อมีการสวดมาลัยจะมีบทลํานอกแทรกอยู่อย่างมากมายซึ่งเน้นความบันเทิง ความสนุกสนานเป็นสาคัญนั้น จึงทําให้แก่นแท้หรือสาระสาคัญของประเพณีนี้หมดลงไปได้ ผู้อนุรักษ์จึงควรเน้นให้ชัดว่าจะมุ่งสิ่งใดเป็นสําคัญมิเช่นนั้น จะทําให้เกิดการเข้าใจผิดในเรื่องสาระสําคัญได้ นอกจากนี้การที่ผู้เล่นมาลัยนําเอาสุรามาเกี่ยวข้องกับประเพณีนี้ว่าต้องใช้สุรามาทําให้เกิดความกล้านั้น น่าจะเป็นความคิดผิด ๆ อย่างไรก็ตามถ้าหากว่า สังคมยังต้องการให้ประเพณีนี้ยังคงอยู่ตลอดไป ซึ่งจะต้องอาศัยการส่งเสริมของรัฐ นักวิชาการอย่างจริงจังเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีนี้ให้อยู่คู่งานศพและภาคใต้ตลอดไป
ภาพจาก : ชวน เพชรแก้ว, 2537, 49
ชวน เพชรแก้ว. (2537). ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.