วัดสุวรณคีรีหรือวัดหัวเขาหรือวัดออก (อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดบ่อทรัพย์) ตั้งอยู่บนเนินริมทะเลสาบสงขลา ที่บ้านบ่อเตย ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง ซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่าวัดออก เพราะอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดบ่อทรัพย์ วัดสิริวรรณาวาส วัดภูผาเบิก เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งคู่บ้านคู่เมืองสงขลา สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนที่ราบหรือภาษาใต้เรียกควน (ภูเขาลูกเล็ก ๆ) หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ปากอ่าวทะเลสาบสงขลาและเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำและศาลาแสดงถึงความเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งในอดีดกาลวัดสุวรณคีรีเคยเป็นวัดร้างมาก่อนต่อมาได้รับการบูรณะให้เป็นวัดสำคัญประจำเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน โดยท่านพระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (พ.ศ. ๒๓๒๘-๒๓๕๔) เมื่อได้รับการบูรณะและสถาปนาขึ้นเป็นวัดหลวง และเป็นสถานที่ที่ถือน้ำสาบานหรือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเหล่าข้าราชการบเมืองสงขลา วัดสุวรรณคีรีได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๐ วัดตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลาที่บ้านบ่อเตย ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีโบราณสถานที่สำคัญ คือพระอุโบสถเพราะภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนสีที่มีความสวยงามด้วยเส้น และองค์ประกอบไม่แพ้จิตรกรรมที่พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส (ในปัจจุบันภาพบางส่วนจางและลบเลือนไปบางส่วน) และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัย นอกจากนี้ยังมีหอระฆังตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอุโบสถ เจดีย์หินแบบจีน (ถะ) ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของอุโบสถ และซุ้มใบเสมาสร้างด้วยหินแกรนิตลักษณะศิลปะจีน ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้สวยงาม ตามประวัติการสร้างวัดนั้นพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๐๘-๒๕๒๗) ได้แต่งคำโคลงไว้บทหนึ่งว่า..........
วัด ไทธิเบศเจ้า จอมนรินทร์ สุ สวรรค์คัลลัยถวิล สร้างไว้ วรรณ ประโยชน์เพิ่มภิญ โญยศ กันนา คีรี ราบล้างลงได้ สร้างเชตุพนถวายฯตามคำโคลงนี้ทำให้ทราบว่าเจ้าเมืองสงขลาคนใดคนหนึ่งเป็นผู้สร้างวัดสุวรรณคีรี ถ้าพิจารณาตามชื่อวัดแล้วผู้สร้างก็คือหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยียง ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๑๘-๒๓๒๒) หรือหลวงสุวรรณคีรี (บุญฮุย ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๒๒-๒๓๕๕) เพราะใช้นามว่าหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ ซึ่งเป็นนามพ้องกันกับวัดมีเพียง ๒ คนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานคำจารึกที่พระเจดีย์ (ถะเจดีย์แบบจีน) ที่ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถวัดว่าเจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างเจดีย์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๐ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๔๑ จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าวัดสุวรรณคีรีสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีตอนปลายหรือกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเมื่อครั้งที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้กล่าวถึงวัดสุรรณคีรีไว้ว่า
“วัดสุวรรณคีรีตั้งอยู่บนเชิงเขามีลานขึ้นไปเป็นชั้น ๆ กว้างขวางมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ของก่อสร้างก็เป็นชิ้นเป็นอัน อุโบสถใหญ่และกุฏีก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องทั้งนั้นเสียแต่ปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมและปล่อยให้นกเรี้ยว มีพระ ๖ รูปไม่พอจะรักษาได้ทราบว่าอย่างนี้เพราะชาวบ้านไม่นับถือพระครูญาณโมลีรังเกียจในความประพฤติของพระครู ไม่มีใครไปทำบุญและช่วยธุระ บางบ้านถึงไม่ใส่บาตร...”
วัดสุวรรณคีรีเป็นวัดประจำตระกูล ณ สงขลาและสุวรรณคีรี ได้รับการดูแลบูรณะจากลูกหลานของตระกูล ณ สงขลาตลอดมาและเมื่อย้ายเมืองสงขลาจากท่าแหลมสนมายังตำบลบ่อยางในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ วัดสุวรรณคีรีก็ขาดการดูแลทำให้ทรุดโทรมลง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗ จึงได้มีการบูรณะใหม่อีกครั้งโดยพระครูคลิ้ง ธมฺมรกฺขิโต (พันธุอุบล) เจ้าอาวาสรูปที่ ๙
วัดสุวรรณคีรีมีความต่อเนื่องกันในด้านการวางผังและภูมิสถาปัตยกรรม มีการทำกำแพงกันดินด้วยหินภูเขา ใน ๓ ระดับ มีทางเดินและบันไดเชื่อมต่อกันระหว่างวัดปูด้วยกระเบื้องหน้าวัวโบราณ ซึ่งมีลวดลายในเนื้อกระเบื้องอันเป็นเอกลักษณ์กระเบื้องดินเผาเกาะยอนับเป็นตัวอย่าง ที่สำคัญทั้งในด้านสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจและทรงคุณค่า พระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม มีเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยปูนปั้นศิลปะอิทธิพลตะวันตก เจดีย์จีนทำด้วยหินแกรนิต หอระฆัง ซุ้มเสมาประดับด้วยปูนปั้นละเอียดงดงาม อีกทั้งองค์ประกอบทางภูมิสถาปัตยกรรมนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่ง วัดสุวรรณคีรีหรือวัดออกเป็นวัดที่ใช้ทำพิธีถือน้ำสาบานหรือน้ำพิพัฒน์สัตยาอธิษฐานของบรรดาเหล่าข้าราชการเมืองสงขลาในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๗๙ หรือในช่วงที่เมืองสงขลาตั้งอยู่ที่ท่าแหลมสนการที่ชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดออก" มาจากตัววัดสุวรรณคีรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดบ่อทรัพย์ วัดภูผาเบิก และวัดสิริวรรณาวาส วัดสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.๑) พระยาวิเชียรคีรีเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๖ เคยอธิบายถึงผู้สร้างวัดแห่งนี้ผ่านโคลงกลอนบทหนึ่งซึ่งทำให้ทราบว่าวัดสุวรรณคีรี สร้างขึ้นโดยเจ้าเมืองสงขลาคนใดคนหนึ่งระหว่างหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ(เหยียง ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๑๙-๒๓๒๒) หรือหลวงสุวรรณคีรี (บุญฮุย ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๒๒-๒๓๕๕) เป็นวัดสำคัญประจำเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพเขียนสีที่เขียนที่สวยงามและทรงคุณค่ายิ่ง (ปัจจุบันภาพส่วนมากลบเลือนไปตามกาล) อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีหอระฆัง และเจดีย์หินสถาปัตยกรรมแบบจีน (ถะ) ตั้งอยู่บริเวณรอบพระอุโบสถ สำหรับหอระฆังของวัดสุวรรณคีรีทางกรมศิลปากรได้ให้ข้อมูล ไว้ว่าหอระฆังด้านหน้าพระอุโบสถเป็นตัวอาคารที่ก่อด้วยปูน มีทั้งหมดสองชั้นชั้นล่างก่อทึบ ชั้นบนก่อโปร่ง มีการเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปวงรีทั้งสี่ด้าน ภายในแขวนระฆัง อาคารดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะที่รับอิทธิพลจากตะวันตก เช่น การทำซุ้มประตูอาร์ตโค้งที่ชั้นล่างซุ้มหน้าต่างทรงรูปไข่ที่ชั้นบน ซึ่งเป็นอิทธิพลของตะวันตกในช่วงปลายของรัชกาลที่ ๓ ส่วนเจดีย์หินหรือถะศิลาด้านหน้าอุโบสถ มีลักษณะสำคัญคือด้านล่างเป็นฐานเขียง รองรับส่วนกลางซึ่งมีรูปทรงเหมือนอาคาร ๖ ชั้น และอยู่ในผัง ๘ เหลี่ยม ด้านบนสุดประดับปล้องไฉน ทั้งนี้ถะคือสถูปทรงอาคารซึ่งเป็นศิลปะแบบเฉพาะของชาวจีน ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง ในชั้นที่ ๒ ปรากฏจารึกภาษาจีนอ่านว่า "เจียงชิ่งซื่อเหนียน" แปลว่าปีที่ ๔ แห่งรัชสมัยพระเจ้าเจียชิ่ง อยู่ในปี พ.ศ. ๒๓๔๒ ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ ๑ ของไทย โบราณสถานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเจดีย์หน้าวัดสุวรรณคีรี เจดีย์แห่งนี้ชาวบ้านล่ำลือกันว่าหินที่ล้อมรอบเจดีย์องค์นี้งอกขึ้นมาเอง ต่อมาพระและชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณะใหม่มีการทาสีให้ดูสวยงาม รอบ ๆ ฐานพระเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ มีรูปพระสาวกปูนปั้นนูนต่ำประนมมืออยู่ภายในวงกลม
พระอุโบสถ
พระอุโบสถวัดวุวรรณคีรีตั้งอยู่บนลานที่สูงกว่าพื้นที่โดยรอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีช่องประตูหน้า ๒ ช่อง ตรงกลางมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพร มีหน้าต่าง ๗ ช่อง มีบันไดทางขึ้น ๔ ด้านแต่ละบันไดมีรูปสิงโตจำหลักหิน ๒ ตัว รวมเป็น ๘ ตัว อยู่ตรงด้านยาวของอาคารทั้ง ๒ ด้านทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ชั้นฐานประกอบด้วยหน้ากระดาษ ๑ ชั้น สำหรัคบเสาพาไลในปัจจุบันได้บูรณะใหม่ทั้งหมดโดยใช้และคานเสริมเหล็ก แทนเสาและผนังอิฐแบบของเดิม ตัวอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดกว้างประมาณ ๘.๒๕ เมตร ยาว ๑๕.๙๐ เมตร อุโบสถมีประตู ๔ ประตู ด้านหน้า ๒ ประตู ด้านหลัง ๒ ประตู ด้านหน้ามีตุ๊กตาจีนเฝ้า ๒ ตัว หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้และสัตว์ป่า เช่น กระจง กระรอก และ ประดับด้วยเครื่องถ้วยเครื่องชามจีนอย่างสวยงาม ภายในอุโบสถมีเสาสี่เหลี่ยมรองรับหลังคา ๒ แถว แถวละ ๖ ต้น บัวหัวเสาเป็นรูปบัวเหลี่ยมแบบศิลปะโคธิคของชาติตะวันตก สำหรับพระประธานก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัยขนาดใหญ่จำนวน ๓ องค์ มีรูปพระสาวกพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ซ้ายขวาตามลำดับ ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทะรูปอีกหลายองค์ เช่น พระพุทธรูปบุเงินปางอุ้มบาตร ๑ องค์ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ปางห้ามสมุทร ปางห้ามมาร พระพุทธรูปหินอ่อนศิลปะพม่า ๒ องค์ และพระพุทธรูปจำหลักไม้ฝีมือช่างท้องถิ่นจำนวนมาก ฝาผนังอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน สมัยก่อนมีจิตรกรรมฝาผนังตอนล่างเป็นเรื่องทศชาติ ตอนบนเป็นเรื่องพุทธประวัติแต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันจิตรกรรมฝาผนังถูกน้ำฝนลบเลือนเกือบหมดแล้ว เหลือเพาะผนังด้านหลังพระประธานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นต่าง ๆ วิมานปราสาทนางฟ้าเทพบุตรลอยอยู่ตามหมู่เมฆ เรียงเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป จนชั้นสูงสุดเป็นภาพปราสาทใหญ่ พระอุโบสถของวัดสุวรรณคีรีเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทั้งส่วนผนังและหน้ายันกรอบ หน้าบันลดรูปไม่มีการประดับช่อฟ้า ในระกาและหางหงส์ กลางหน้าบันเป็นงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาสลับดอกไม้โดยเกสรของดอกไม้แต่ละดอกแทนด้วยภาชนะเครี่องเคลือบทั้งนี้การประดับหน้าบันและฝังภาชนะกระเบื้องเคลือบ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้ลักษณะของประตูและหน้าต่างของอุโบสถสร้างแบบเรียบง่ายไม่มีการประดับสิ่งใด ๆ ส่วนด้านนอกอุโบสถมีการประดับด้วยซุ้มเสมาสร้างด้วยหินแกรนิต ลักษณะศิลปะแบบจีน ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ ภายในเป็นเสมาหินแกรนิตแบบเสมาคู่ปักอยู่ซุ้มใบเสมาทั้งแปดทิศ ซึ่งเป็นพุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหน้าประตูทางเข้าของอุโบสถมีการประดิษฐานประติมากรรมศิลารูปทหารจีน ทั้งนี้น่าสังเกตว่าเนื้อศิลามีสำดำสลับเทาและขาว ฝีมือช่างแกะสลักริ้วผ้าค่อนข้าวเป็นลอนคลื่น แต่ไม่ค่อยแกะสลักลวดลายรายละเอียดมากนัก ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึงงานประติมากรรมศิลาในมณฑลฝูเจี้ยน ทั้งนี้ประติมากรรมจากแหล่งดังกล่าวน่าจะเป็นที่นิยมเพราะปรากฏในวัดอื่น ๆ ด้วย เช่น วัดมัชฌิมาวาส เป็นต้น ประติมากรรมรูปบุคคลดังกล่าวแต่งชุดทหารจีนหน้าตาถมึงทึงและถือดาบเป็นอาวุธ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงส่วนด้ามเท่านั้น ทั้งนี้เทพเจ้าจีนที่แต่งชุดทหารและถืออาวุธมีอยู่หลายองค์อาจหมายถึงฉินซูเป่า และหยู่ฉือจิ้งเต๋อ ซึ่งเป็นเทพประตูที่นิยมในหมู่ชาวจีนก็เป็นได้
พระอุโบสถประดิษฐานอยู่บนเนินเขาสูง
พระประธานในพระอุโบสถ
ด้านหน้าประตูทางเข้าของอุโบสถมีการประดิษฐานประติมากรรมศิลารูปทหารจีน ทั้งนี้น่าสังเกตว่าเนื้อศิลามีสำดำสลับเทาและขาว ฝีมือช่างแกะสลักริ้วผ้าค่อนข้าวเป็นลอนคลื่น แต่ไม่ค่อยแกะสลักลวดลายรายละเอียดมากนักลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึงงานประติมากรรมศิลาในมณฑลฝูเจี้ยน ทั้งนี้ประติมากรรมจากแหล่งดังกล่าวน่าจะเป็นที่นิยม เพราะปรากฏในวัดแห่งอื่นด้วย เช่น วัดมัชฌิมาวาส เป็นต้น ประติมากรรมรูปบุคลดังกล่าว แต่ชุดทหารจีน หน้าตาถมึงทึง และถือดาบเป็นอาวุธซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงส่วนด้ามเท่านั้น ทั้งนี้เทพเจ้าจีนที่แต่งชุดทหารและถืออาวุธมีอยู่หลายองค์อาจหมายถึง ฉินซูเป่า และหยู่ฉือจิ้งเต๋อ ซึ่งเป็นเทพประตูที่นิยมในหมู่ชาวจีน
นนทรีหรือตุ๊กตาศิลา (นักรบจีน)
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเป็นภาพเขียนสีฝุ่นมีรองพื้น ฝีมือช่างหลวง ภาพเดิมชำรุดเหลืออยู่เพียงส่วนน้อย กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมและบูรณะ ซึ่งร่องรอยของจิตรกรรมเดิมเห็นจะได้ว่าเป็นจิตรกรรมที่สวยงามด้วยเส้น สี และองค์ประกอบซึ่งสวยงามอย่างยิ่ง นับเป็นฝีมือของช่างชี้นครู เนื้อเรื่องที่เขียนเป็นภาพพุทธประวัติ ไตรภูมิและทศชาติชาดก มีพื้นที่เขียนภาพประมาณ ๗ ตารางเมตร โดยเขียนภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วมีแม่น้ำไหลออกจากปากราชสีห์ วัว ม้าและช้างไว้ตอนบน ตอนล่างเป็นภาพพระมาลัยโปรดสัตว์นรก อยู่บนผนังด้านหลังพระประธาน ผนังด้านหน้าพระประธานเป็นภาพมารผจญ ด้านข้างเป็นภาพทศชาติชาดก ตอนบนเหนือกรอบหน้าต่่างเขียนภาพพุทธประวัติ และบนเพดานเขียนลายดาวทองบนพื้นรักแดง ซึ่งสวยงามและมีคุณค่าอย่างยิ่ง
เจดีย์หินแบบจีน
เจดีย์หินแบบจีน (ถะ) ตั้งอยู่บริเวณลานด้านหน้าของอุโบสถเป็นเจดีย์หินแกรนิต รูปทรงหกเหลี่ยมมี ๗ ชั้น มีคำจารึกภาษาจีนและภาษาไทยในชั้นที่ ๓ ของเจดีย์ว่า “กระหม่อมฉันเจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) น้อมเกล้าถวายไว้ก่อสร้างปีมะเส็งสำเร็จปีมะเมีย วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๓๔๑” ซึ่งคล้ายกับเจดีย์ที่วัดมัชฌิมาวาสแต่ในวัดสุวรรณคีรีมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างคือด้านล่างเป็นฐานเขียงรองรับส่วนกลาง ซึ่งมีรูปทรงเหมือนอาคารซ้อนชั้นโดยมีทั้งหมด ๖ ชั้น และอยู่ในผังแปดเหลี่ยมด้านบนสุดประดับปล้องไฉน ทั้งนี้ถะคือสถูปทรงอาคารซึ่งเป็นแบบเฉพาะที่ชาวจีนพัฒนาขึ้นมาโดยมีทั้งทรงสี่เหลี่ยมและทรงแปดเหลี่ยมโดยตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งลงมาปรากฏแต่ถะทรงแปดเหลี่ยมเท่านั้น ที่ชั้นที่สองของส่วนกลางปรากฏจารึกภาษาจีน โดยด้านหนึ่งอ่านว่า “เจียงชิ่งซื่อเหนียน” แปลว่าปีที่สี่แห่งรัชสมัยพระเจ้าเจียชิ่ง ซึ่งอยู่ในปี พ.ศ. ๒๓๔๒ อันตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าถะองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยดังกล่าว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าถะองค์นี้คงแกะสลักและนำเข้ามาจากเมืองจีนทั้งนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นชาวสยามมีความนิยมนำเข้าประติมากรรมศิลาจากเมืองจีนเป็นจำนวนมาก
เจดีย์หินแบบจีน (ถะ)
เจดีย์ทอง
เจดีย์ทองที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของวัดเป็นเจดีย์ที่ก่ออิฐถือปูน ฐานเจดีย์เป็นรูปทรงกระบอกและมีก้อนหินใหญ่ประดับฐานรอบฐานทั้ง ๔ ทิศ (เล่ากันว่าหินเหล่านี้งอกขึ้นมาเอง) และมีรูปพระสาวกปูนปั้นนูนต่ำนั่งประนมมืออยู่ภายในวงกลม องค์เจดีย์เป็นระฆังแบบโอคว่ำมีลวดลายเป็นปูนปั้นรูปพวงดอกไม้ประดับรอบองค์ซึ่งเป็นอิทธิพลจากศิลปะจีนสมัยรัตนโกสินทร์
ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของหอระฆังซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีทั้งหมดสองชั้น ชั้นล่างก่อทึบ ส่วนชั้นบนก่อโปร่ง มีการเจาะช่องหน้าต่างรูปวงรีทั้ง ๔ ด้าน ภายในแขวนระฆังไว้ อาคารดังกล่าวสะท้อนลักษณะศิลปะตะวันตกหลาย ๆ ประการ เช่น การทำซุ้มประตูอารค์โค้งที่ชั้นล่าง ซุ้มหน้าต่างทรงรูปไข่ที่ชั้นบน รวมไปถึงลักษณะเสาหลอกที่ชวนให้นึกถึงระเบียบแบบตะวันตก ทั้งนี้อิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ และชัดเจนขึ้นในสมัยถัดมา ดังนั้นจึงพอกำหนดอายุหอระฆังดังกล่าวว่าไม่เก่าไปกว่ารัชกาลที่ ๓
หอระฆังของวัดสุวรรณคีรี เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีทั้งหมดสองชั้น ชั้นล่างก่อทึบ ส่วนชั้นบนก่อโปร่ง มีการเจาะช่องหน้าต่างรูปวงรีทั้งสี่ด้าน ภายในแขวนระฆัง อาคารดังกล่าวสะท้อนลักษณะศิลปะตะวันตกหลายประการ เช่น การทำซู้มประตูอารค์โค้งที่ชั้นล่าง ซุ้มหน้าต่างทรงรูปไข่ที่ชั้นบน รวมไปถึงลักษณะเสาหลอกที่ชวนให้นึกถึงระเบียบแบบตะวันตก ทั้งนี้อิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ และชัดเจนขึ้นในสมัยถัดมา ดังนั้นจึงพอกำหนดอายุหอระฆังดังกล่าวว่าไม่เก่าไปกว่ารัชกาลที่ ๓
สมเด็จเจ้าเกาะยอ
สมเด็จเจ้าเกาะยอ หรือพระราชมุนีเขากุดเป็นชาวบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หรือที่ชาวบ้านเกาะยอเรียกว่า "พ่อท่านสมเด็จเจ้าเกาะยอ" เป็นพระชั้นสมเด็จที่เดินทางมากับสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ และสมเด็จเจ้าจอมทอง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพระสามเกลอ ทางภาคใต้ ทั้ง ๓ องค์ซึ่งท่านได้เดินทางเทศนาธรรมมาเรื่อย ๆ และมาอยู่กันคนละแห่งละที่ คือสมเด็จเจ้าพะโค๊ะอยู่ที่วัดพะโค๊ะ, สมเด็จเจ้าจอมทองมาอยู่ที่วัดเกาะใหญ่ และสมเด็จเจ้าเกาะยออยู่ที่เขากุฏเกาะยอ ซึ่งทุกปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปีลูกหลานชาวเกาะยอจะประกอบพิธีกรรมและขึ้นเขากุฏ เพื่อสักการและหม่ผ้าเจดีย์สมเด็จเจ้าเกาะยอ ในขณะบางคนที่เคยบนบานสานกล่าวใว้ก็จะนำของไปแก้บนกันในวันนั้น ส่วนลูกหลานสมเด็จเจ้าเกาะยอที่อยู่ไกล ๆ ก็ตั้งจิตภาวนาถึงสมเด็จเจ้าเกาะยอให้สมเด็จเจ้าเกาะยอคุ้มครองป้องกันภัยให้ลูกหลานทุก ๆ คน
สมเด็จเจ้าเกาะยอถือกำเนิดสมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมชื่อขาว เพราะสมัยแรกเกิดที่ฝ่ามือด้านขวาของท่านเป็นรูปดอกบัวสีขาว เมื่ออายุ ๒๐ ปี บิดานำไปฝากไว้กับสมภารอ่ำวัดต้นปาบ ตำบลบ้านพรุ เพื่อให้บวชเรียนจนสามารถจดจำคำขออุปสมบทได้หมด จึงได้อุปสมบท ณ วัดต้นปาบ เมื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานได้ร่ำลาสมภารอ่ำไปออกธุดงค์และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสุวรรณคีรี ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา อยู่ ๖ พรรษา ต่อจากนั้นเดินทางธุดงค์ไปจำพรรษาที่วัดบางโหนด (บ้านบางลึก ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา) เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินธุดงค์ไปเมืองสทิงพระ (อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) ที่นี่ท่านได้พบกับสมเด็จเจ้าพะโคะและได้สนทนาธรรมกันจนเป็นที่ชอบพออัธยาศัย ในระหว่างการสนทนาธรรมสมเด็จเจ้าเกาะยอ ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าหากท่านกับสมเด็จเจ้าพะโคะได้เคยสร้างบารมีร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ขอให้ท่านเห็นสมเด็จเจ้าพะโคะนั่งอยู่บนพรมสีแดงปรากฏว่าท่านเห็นสมเด็จเจ้าพะโคะนั่งอยู่บนพรมสีแดงจริงหลังจากนั้น สมเด็จเจ้าเกาะยอและสมเด็จเจ้าพะโคะ ได้ออกเดินทางธุดงค์ไปด้วยกันจนไปพบสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ ได้สนทนาธรรมจนเป็นที่ชอบพอกันแล้ว สมเด็จเจ้าเกาะยอได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าหากสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่เคยสร้างสมบารมีมาด้วยกันในชาติปางก่อน ขอให้ท่านเห็นเจ้าเกาะใหญ่ยืนอยู่บนพรมสีเหลือง ปรากฏว่าท่านก็ได้เห็นสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ยืนอยู่บนพรมสีเหลืองจริง ๆ เมื่อแยกย้ายกันกลับสมเด็จเจ้าเกาะยอได้ขึ้นฝั่งที่บ้านแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ปักกลดจำพรรษาอยู่ที่นี่เป็นเวลา ๗ เดือน จึงได้เดินทางไปเยี่ยมโยมบิดามารดาที่บ้านพรุ โดยจำพรรษาที่วัดต้นปาบ ระหว่างจำพรรษาท่านได้เหยียบรอยเท้าไว้ต่อมาชาวบ้านได้เรียกชื่อวัดต้นปาบว่า “วัดพระบาทบ้านพรุ” สมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางกลับเกาะยออีกครั้ง ครั้งนี้ได้ขึ้นไปปักกลดจำพรรษาอยู่บนภูเขาลูกหนึ่ง ในค่ำคืนหนึ่งขณะที่ท่านได้นั่งสมาธิอยู่นั้นเกิดนิมิตเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลอยลงมายังยอดเขา โดยตรัสทำนายว่าต่อไปบนยอดเขาแห่งนี้จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตถาคตเจ้าขอให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี้ และให้สร้างรูปเหมือนจำลองตถาคตประดิษฐานไว้บนยอดเขาลูกนี้ด้วย และให้ทำพิธีสักการะบูชาในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน ๖ ของทุกปี ให้ตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่าเขากุด หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าเกาะยอได้สรางพระพุทธรูปจำลองแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บนยอดเขาท่านได้จำพรรษาอยู่บนยอดเขาเป็นเวลานาน ได้ช่วยเหลือชาติบ้านเมืองและประชาชนบริเวณเกาะยอให้ความเคารพบูชามาก สมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงเห็นว่าสมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ที่พระราชมุนีเขากุด ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าสมเด็จเจ้าเกาะยอ หรือสมเด็จเจ้าเขากุด เมื่อมรณภาพแล้ว ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างสถูปเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนเก็บอัฐิธาตุของท่าน ไว้บนยอดเขากุดในบริเวณที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำลองปรากฏหลักฐานอยู่จนถึงทุกวันนี้
ศาลาประดิษฐานสมเด็จเจ้าเกาะยอ
เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรี
วัดสุวรรณคีรีมีเจ้าอาวาสปกครองดูแลที่พอประมวลได้จำนวน ๙ รูป ประกอบด้วย
สำหรับในที่นี้จะขอกล่าวจะเฉพาะบทบาทขอพระอธิการคลิ้ง ธมฺมรกฺขิโต เจ้าอาวาสรูปที่ ๙ พอเป็นสังเขป ดังที่กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่าวัดสุวรรณคีรีเป็นวัดประจำตระกูล ณ สงขลาและสุวรรณคีรีวัดจึงได้รับการดูแลปฏิสังขรณ์ตลอดมา แต่เมื่อมีการย้ายเมืองสงขลาจากฝั่งแหลมสนมายังตำบลบ่อยาง (ตัวเมืองสงขลาในปัจจุบัน) วัดสุวรรณคีรีก็ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมากเพราะการดูแล จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗ ก็ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งโดยพระอธิการคลิ้ง ธมฺมรกฺขิโต (พันธุอุบล) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๙ ในการบูรณะได้จัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อหาทุนทรัพย์สำหรับการจัดสร้างวัตถุมงคลที่น่าสนใจของวัดโดยเฉพาะพระเนื้อว่านหลวงพ่อทวดปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ โดยที่พระอธิการคลิ้งได้ดำริให้จัดสร้างแบบเหรียญทั้งสิ้นจำนวน ๗๘,๐๐๐ องค์ พระบูชา ๔๓๓ องค์ กำหนดพิธีการจัดสร้างโดยได้อัญเชิญดวงวิญญาณของสมเด็จเจ้าราชมุณีเขากุดเกาะยอ (หลวงพ่อทวดเขากุด) ทำพิธี ๗ วัน ๗ คืน โดยอารธนานิมนต์พระเกจอาจารย์ ๑๐๘ รูป อาทิ พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ แห่งวัดสวนขัน พ่อท่านเส้ง วัดแหลมทราย อาจารย์วัน วัดปากพะยูน พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ หลวงพ่อช่วง วัดกลาง เป็นต้น สำหรับมวลสารที่นำมาประกอบพิธีเป็นไปตามสูตรว่าน ๑๐๘ ชนิด ซึ่งเป็นวัตถุมงคลที่ปัจจุบันหาได้ยากมาก
หรียญสมเด็จเจ้าราชมุณีเขากุดเกาะยอ ปี ๒๕๐๕
ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ (บรรณาธิการ). (2545). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสงขลา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด
สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2537). สงขลา ถิ่นวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
หาดใหญ่โฟกัส. (2560). วัดสุวรรณคีรี : วัดโบราณคู่เมืองสงขลา. สืบค้นวันที่ 11 ม.ค. 61, จาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ/521-เรื่องราวหาดใหญ่
-วัดสุวรรณคีรี-%7C-วัดโบราณคู่เมืองสงขลา/
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ป.จ., ม.ป.ช.ม.ว. ม.ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2519. (2519). กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.