วัดท้าวโคตร (Wat Thao Khot)
 
Back    29/06/2018, 11:14    15,270  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

ภาพจาก : http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/collections/nakaornsrithammarat/item/93-wat-taokot-005.html

      วัดท้าวโคตรเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๖๑ และเป็นวัดที่อยู่คู่นครศรีธรรมราชมาอย่างยาวนาน สถานที่ตั้งวัดท้างโคตรเคยเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ภายในวัดท้าวโคตรมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานที่สำคัญคือ ซากเจดีย์โบราณ สูงประมาณ ๑๑ เมตร ฐานเจดีย์มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้า เจดีย์สร้างด้วยอิฐและดินเหนียวและหินปะการังบางส่วน เจดีย์วัดท้าวโคตรใช้อิฐเป็นโครงสร้างหลัก และใช้ดินเหนียวเป็นส่วนยึด ข้างในมีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นของมีมาแต่เดิม มีตู้เก็บของวางอยู่ทางซ้ายขององค์พระซึ่งพ่อบอกว่าแต่เดิมเป็นตู้หนังสือพระ ตัวโบสถ์ยังเหมือนเดิม แต่หลังคาคงบูรณะใหม่ มีใบเสมาคู่หรือใบเสมาซ้อน ในพระอุโบสถของวัด มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยเป็นองค์พระประธาน ขนาดหน้าตัก ๑๘๓ นิ้ว สูงประมาณ ๑๙๕ นิ้ว เป็นฝีมือช่างนครศรีธรรมราช ลักษณะพระพักตร์คล้ายพระประธานที่วิหารวัดสบเดิม และที่วิหารหลวงวัดพระมหาธาตุฯ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗–๒๐ ภายในมีเป็นภาพจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เขียนลงบนไม้กระดานคอสอง เป็นภาพเขียนสีฝุ่น มีขนาดภาพกว้าง ๓๗ เซนติเมตร ยาว ๕๖ เซนติเมตร ประดับไว้ที่เสายาวข้างละ ๕ ต้น ด้านซ้ายและด้านขวา ของด้านหน้าพระประธานในอุโบสถ สูงจากพื้นประมาณ ๓ เมตร เป็นภาพพุทธประวัติและทศชาดก จำนวน ๔๐ ภาพ ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในคราวที่มีการบูรณะหลังคาพระอุโบสถ (น่าจะรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ ) วัดท้าวโคตร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๑๙ ไร่ ๒ งาน ๕๓ ตารางวา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่พอสืบค้นได้ปรากฏว่าแต่เดิมในบริเวณนี้มีวัดตั้งอยู่หลายวัด ประกอบด้วย

  • วัดวัดประตูทอง อยู่ทางด้านหลังสุดติดกับถนนพัฒนาการทุ่งปรังและวัดชายนา (ในปัจจุบันนี้)
  • วัดธาราวดี (วัดไฟไหม้) อยู่ทางด้านทิศเหนือ
  • วัดวา อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดประตูทอง และทางทิศใต้ของวัดธาราวดี
  • วัดศรภเดิมหรือวัดศรภ อยู่ทางทิศใต้บริเวณรอบ ๆ เจดีย์
  • วัดท้าวโคตร
    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ขณะที่ยังดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากทรงนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์แล้ว ทรงทราบเรื่องเทวาลัยที่วัดท้าวโคตร จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรเทวาลัยที่ยังปรากฎเป็นหลักฐานอยู่ และยังได้ทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณที่ใกล้ ๆ กับวัดท้าวโคตร  ทรงพบว่ามีวัดเล็กวัดน้อยตั้งเรียงรายอยู่หลายวัดย่อมไม่สะดวกต่อการปกครองของคณะสงฆ์และคงไม่สะดวกต่อการปฏิบัติศาสนกิจ จึงทรงรับสั่งให้ยุบวัดทั้งหมดนั้นมารวมเข้ากับวัดท้าวโคตร สมัยต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทางราชการได้ออกเอกสารสิทธิ์ส.ค. ๑ และโฉนดเลขที่ ๙๘๖๘  เพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิ์ถือครอง

           คำว่า “วัดท้าวโคตร” นั้น น้อม อุปรมัย (๒๕๒๖) ได้เขียนไว้ว่า... ท้าวโคตรเป็นชื่อเฉพาะที่ถูกเรียกขานโดยประชาชนภายหลัง  เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ในยุคสมัยนั้น โดยสามารถแยกออกเป็น ๒ พยางค์ด้วยกันคือ

  • คำว่า “ท้าว” ตามปทานุกรมแปลว่า “ผู้เป็นใหญ่, พระเจ้าแผ่นดิน, อาการอันสั่นรัว ๆ” เฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องนี้หมายถึงผู้เป็นใหญ่หรือพระเจ้าแผ่นดินมากกว่า เพราะใหญ่ถึงขนาดที่ต้องการเรียกว่า “ท้าว” นั้นก็หมายถึงเป็นผู้ใหญ่ในที่ทุกสถาน
  • คำว่า “โคตร” ตามปทานุกรม แปลว่า “วงศ์ สกุล เผ่าพันธุ์” คำ ๆ นี้เป็นคำที่เข้าใจความหมายกันทั่วไป และยังกินลึกลงไปคือเป็นต้นตอ ชาติกำเนิด กำพืด (คือเทือกเขาเหล่ากอ)

          เพราะฉะนั้นเมื่อคำทั้ง ๒ คำมารวมกันคือ “ท้าวโคตร” หมายถึง “เผ่าพันธุ์ของผู้เป็นใหญ่หรือพระเจ้าแผ่นดิน” และถ้านำมาใช้กับสถานที่เช่นวัดวาอารามก็หมายถึงวัดของผู้เป็นใหญ่หรือของพระเจ้าแผ่นดิน หรืออย่างน้อยก็ต้องเกี่ยวข้องหรือผูกพันกับผู้เป็นใหญ่หรือพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้น ๆ จึงสามารถสรุปได้ว่าวัดท้าวโคตรเป็นวัดที่ผู้เป็นใหญ่ซึ่งอาจจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้นมีความผูกพันหรือมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งถูกเรียกกันในสมัยต่อมาว่า “วัดท้าวโคตร” อันหมายถึงกษัตริย์พระองค์แรกที่ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชที่มีชื่อปรากฏตามที่นักประวัติศาสตร์พบหลักฐานคือพญาศรีธรรมโศกราชที่ ๑

          จากตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช มีข้อความที่กล่าวถึง “วัดศรภเดิมหรือวัดศรภ” หนึ่งในวัดที่อยู่รายล้อมทางทิศใต้บริเวณรอบ ๆ เจดีย์วัดท้าวโคตร ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันว่า “…..อยู่มายังมีพระมหาเถรองค์หนึ่งชื่อสัจจานุเทพ อยู่เมืองนครป่าหมากรื้อญาติโยมมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยพระยามหาเถรพรหมสุโยขอที่ตั้งเขตอาราม ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ ก่อพระเจดีย์ก่อกำแพงไว้ให้ญาติโยมรักษาอยู่ตามระญาอุทิศถวายไว้นั้นได้ชื่อว่า “วัดศรภเดิม”… และอีกตอนหนึ่งว่า “….อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรมศักราช ๑๘๖ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมาเป็นศรีมหาราชา แต่งพระธรรมศาลาทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัดศรภ มีพระบัณทุรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานสกา ศรีราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัดศรภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด”

     สำหรับความเป็นมาของ “วัดท้าวโคตร” นั้น ราษฎรในบริเวณใกล้เคียงมีความเชื่อว่าเกี่ยวพันกับพระยาศรีธรรมาโศกราชและนางเลือดขาวซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในตำนานและนิทานพื้นบ้านของชาวใต้ สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับวัดท้าวโคตร เฉลียว เรืองเดช (2542) ได้เรียบเรียงไว้ว่า....... พระยาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ หรือชาวบ้านเรียกกันในฐานกษัตริย์ซึ่งทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชเป็นพระองค์แรกว่า “ท้าวโคตร” ได้ขุดกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบเมือง มุมกำแพงทุกมุม ให้ตั้งตุ่มใบใหญ่ใส่น้ำเต็มตุ่มอยู่มิได้ขาด กันข้าวยากหมากแพง ฝังหลักเมืองไว้ในบริเวณดังกล่าว สำหรับเทวสถานและเทวลัยได้สร้างขึ้นไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง (วัดท้าวโคตรในปัจจุบัน) ไว้สำหรับประกอบศาสนกิจตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ เทวาลัยที่ท้าวโคตรสร้างขึ้นนี้มีรูปพรรณสันฐานคล้ายปล้องกลมก่อด้วยอิฐโดยรอบ เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประยาวประมาณ ๕ วา สูง ๘ วา ตอนบนสุดไม่มียอดแต่มีฐานแยกขึ้นเป็นแท่นทางทิศตะวันออก สูงประมาณ ๒ ศอก กว้างประมาณ ๑ วา ตอนหน้าแท่นมีหินสีขาวก้อนสี่เหลี่ยมกว้างเกือบ ๒ ศอก ยาวประมาณ ๓ ศอก ตรงกลางขุดเป็นแอ่งสำหรับรองรับน้ำฝน ซึ่งถือกันว่าเป็นน้ำที่พระพรหมบนสรวงสวรรค์ประทานลงมา ตรงกลางปล้องมีช่องกลมเล็กขึ้นไปจากฐาน มีบันไดอิฐจากฐานขึ้นถึงลานข้างบน ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๖ ตารางวา ส่วนเหนือจากที่ทำเป็นแท่นกลายเป็นที่ว่าง ต่อมาใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพของท้าวโคตร เทวาลัยดังกล่าวยังปรากฏให้เห็นเมื่อถวายพระเพลิงแล้วบริเวณนั้นก็ค่อย ๆ กลายเป็นที่รกร้างมีสภาพเป็นป่า ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ ตัวเมืองแต่ไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานที่สำคัญ เพียงแต่เว้นเป็นช่องทางเดินเข้าออกที่จะไปประกอบพิธีบนเทวาลัยเท่านั้น ประมาณปี พ.ศ. ๑๕๓๕–๑๕๙๒ ศาสนาพราหมณ์เสื่อมลงศาสนาพุทธเข้ามาแทนที่บริเวณรอบ ๆ เทวสถานที่ไม่สำคัญก็ถูกชาวบ้านบุกรุกที่ทำกินและสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ส่วนเทวาลัยที่สำคัญ ๆ ชาวบ้านไม่กล้าแตะต้อง ดังนั้นศาสนาพุทธที่กำลังขยายตัวอย่างแรงกล้าก็เข้ามาแทนที่ ผู้เป็นหัวแรงในการสร้างกุฏิ วิหาร โรงธรรม อุโบสถ ขึ้นแทนตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวไว้ว่า คือนางเลือดขาวนางได้ร่วมกับพุทธสนิกชน เป็นผู้สร้างสถานที่ของศาสนาพราหมณ์ ในเวลาต่อมาจึงกลายเป็นสถานที่ของศาสนาพุทธเกือบทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่เทวสถานเทวาลัยที่วัดท้าวโคตรก็กลายเป็นวัดที่เรียกว่า “วัดท้าวโคตร” มีพระสงฆ์จำพรรษาและสร้างอุโบสถวิหารขึ้นให้เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา ส่วนเทวสถานที่ทำด้วยอิฐที่รูปเป็นปล้องสูงดังกล่าวก็ยังเหลือให้เห็นจนกระทั่งบัดนี้ ส่วนที่ตั้งเป็นวัดท้าวโคตรก็อยู่ในวงแคบคืออยู่ตรงบริเวณตอนหน้าและตอนหลังของเทวลัยที่เป็นปล้องสูงส่วนบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นส่วนของเทวสถานพราหมณ์ ชาวพุทธในสมัยนั้นก็ชวนกันตั้งเป็นวัดขึ้นอีกหลายวัด ประกอบด้วยวัดวา วัดประตูทอง วัดธาราวดี หรือวัดไฟไหม้ ที่ดินที่เหลืออยู่ซึ่งเป็นที่ตั้งเทวาลัยกับบริเวณทางทิศเหนือเทวาลัยรวมกันเป็นวัดศรภเดิมหรือวัดศรภ (สืบเนืองมาตั้งแต่มีการถวายพระเพลิงพญาศรีธรรมโศกราชที่ ๑)  ใช้ที่ว่างด้านหลังเทวาลัยไปทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งวังของพระนางเลือดขาวเจ้าแม่อยู่ ... และจาการค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญทางด้านคดีชนวิทยา ได้ความว่าแต่เดิมนั้นในบริเวณวัดท้าวโคตรจะมีกำแพงอิฐอยู่ทางด้านหน้าอุโบสถ และวิหาร โดยมีประตูอยู่ทางด้านหน้าอุโบสถ และตกแต่งโดยทำเป็นรูปช้างโผล่หัวออกมาจากซุ้ม ต่อมาได้รื้อกำแพงดังกล่าวลงแล้วก่อเป็นกำแพงวัดใหม่ดังปรากฏในปัจจุบัน


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

       วัดท้าวโคตร ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวัดที่มีโบราณสถานและเป็นแหล่งของโบราณคดีที่สำคัญแหล่งหนึ่งของไทย ลักษณะและสภาพของโบราณคดีแห่งนี้ตั้งอยู่บนสันทรายเก่านครศรีธรรมราช โดยตั้งอยู่ระหว่างเมืองโบราณนครศรีธรรมราชกับเมืองโบราณพระเวียง โดยที่วัดท้าวโคตรตั้งอยู่ห่างจากเมืองโบราณทั้ง ๒ แห่งเพียงเล็กน้อย โดยทางด้านทิศเหนือมีคลองป่าเหล้าและทางด้านทิศไต้มีคลองสวนหลวงไหลผ่าน แต่เดิมในบริเวณนี้มีอยู่ ๖ วัด คือ วัดศรภเดิม วัดวา วัดธาราวดี วัดประตูทอง และวัดท้าวโคตร จนในที่สุดจึงมีการรวมเป็นวัดเดียวกัน คือวัดท้าวโคตรในปัจจุบัน จากการศึกษาวิจัยตลอดจนการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญประกอบด้วย     

ฐานเจดีย์

ภาพจาก : https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/21305

     ฐานเจดีย์หรือสถูปวัดศรภเดิมหรือสถูปวัดท้าวโคตรหรือเจดีย์วัดท้าวโคตร มีรูปแบบศิลประกอบด้วยฐานบัวลูกฝักซ้อนกัน ๓ ชั้น แต่ละชั้นมีการเพิ่มมุมโดยมุมประธานมีขนาดใหญ่กว่ามุมขนาบข้างเล็กน้อย ฐานทางด้านทิศตะวันออกยื่นออกไปกว่าด้านอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวเจดีย์ซึ่งทลายลงไปแล้วเดิมมีมุขยื่นอยู่ทางด้านดังกล่าวด้วย ส่วนเรือนธาตุและยอดของเจดีย์องค์นี้ได้พังทลายไปหมดแล้ว การที่นิยมสร้างฐานบัวลูกฝักเพิ่มมุม โดยมุมประธานมีขนาดใหญ่กว่ามุมอื่น ๆ เพียงเล็กน้อยเป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง คือราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และยังนิยมอยู่ในช่วงต้น ๆ ของสมัยอยุธยาตอนปลายหรือราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ทั้งนี้มีการค้นพบภาชนะดินเผาใต้ฐานอาคาร โดยภาชนะดินเผาเหล่านี้มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘–๒๒ ดังนั้นอาจเป็นได้ว่าเจดีย์องค์นี้อาจสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗–๑๙ ในขั้นต้นฐานของเจดีย์เป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมทุกด้าน ขนาดกว้าง ๑๓.๓๐ เมตร ยาว ๑๓.๓๐ เมตร เฉพาะทางด้านทิศตะวันออกมีมุขยื่นออกไปประมาณ ๕ เมตร มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระปรางค์วัดพระมหาธาตุ วัดเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แต่ตอนบนของฐานเจดีย์แห่งนี้ได้ปรากฏร่องรอยว่ามีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นในองค์ระฆังของสถูปทรงกลม ก่ออิฐรอบ ๆเจดีย์หรือสถูปองค์นี้มีเจดีย์บริวารอยู่ ๔ องค์ (ปัจจุบันถูกทำลายเสียหายหมดแล้ว) ภายหลังกรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นเจดีย์เหล่านี้ได้พบพระพิมพ์ดินดิบจำนวนมากในเจดีย์เหล่านั้น พระพิมพ์ที่พบจากกรุพระเจดีย์ขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายแบบศรีวิชัย พระพิมพ์ของวัดท้าวโคตรที่นิยมและรู้จักกันแพร่หลายคือ พระพิมพ์เนื้อชินเงินสนิมปรอด ลักษณะเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นแผ่นค่อนข้างบาง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อยู่ในซุ้มเรือนแก้วใต้ปรกโพธิ์ มีพระโมคคัลลานและสารีบุตร อัครสาวกซ้ายขวาพนมมือแสดงคารวะ ใต้อาสนะมีรากษสแบกฐาน ๓ ตน ขอบด้านขวามีต้นไม้ ๒ ต้น ด้านซ้าย ๑ ต้น อีกแบบหนึ่งเป็นพระพิมพ์เนื้อชินเงินสนิมปรอดเช่นเดียวกัน ผิวแตกระเบิด ทำเป็นองค์เดียว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ฐานราบลงทองล่องชาด อยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดตรีศูล พระพิมพ์กรุวัดท้าวโคตรทั้ง ๒ แบบนี้เป็นฝีมือช่างนครศรีธรรมราช

ภาพจาก : http://www.gotonakhon.com/?p=16008

ภาพจาก : http://www.gotonakhon.com/?p=16008

อุโบสถ 

    อุโบสถหลังเก่าซึ่งตั้งอยู่หน้าวัด มีประวัติว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๐ อุโบสถตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือขององค์เจดีย์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอุโบสถหลังหนึ่งที่มีความชำรุดทรุดโทรมมาก จึงคงจะยังเหลืออยู่เฉพาะส่วนฐานของพระอุโบสถที่มีอิฐวางเรียงรายออกพ้นมาจากตัวอาคาร สถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่ในปัจจุบันเป็นการบูรณะขึ้นในสมัยหลังประกอบด้วยกำแพง ผนัง และโครงสร้างหลังคา คงมีแต่พระพุทธรูปปางมารวิชัยและใบเสมาเก่ารอบอุโบสถเท่านั้น ที่พอจะยืนยันถึงอายุสมัยได้ว่าคงสร้างขึ้นราวสมัยรัตนโกสินทร์ต้อนต้นหรือสมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นมาใหม่มีลักษณะเป็นเนินดินสูงกว่าระดับข้างเคียง ๑ เมตร เป็นอาคารทรงไทย มีช่อฟ้าใบระกาหลังคาลดลั่น ๓ ชั้นมีขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๓ เมตร ๓๓ เซนติเมตร ภายในมีขนาด ๗ ห้อง มีเสาภายใน ๕ คู่ ด้านหน้า ๒ ห้อง ผนังก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ ๒ เมตร ช่องบนเป็นเสาขึ้นรับเชิงชาย ระหว่างเปิดผนังมีช่อง มีบานเหลือไม้กั้นเป็นช่องลม หลังคามุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลม ด้านหน้ามีประตู ๔ บาน สร้างซุ้มประตูเป็นทรงโค้งครึ่งวงกลมมีเสาประดับกรอบประตู คล้ายประตูกำแพง ด้านข้างทิศเหนือใกล้องค์พระประธานมีประตู ๑ บาน ด้านหลังพระประธานไม่มีประตู ก่อเป็นผนังทึบไปถึงเชิงชายด้านบน พระพุทธรูปในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยฝีมือช่างนครศรีธรรมราช มีลักษณะพระพักต์คล้ายกันกับพระประธานที่วิหารวัดสบเดิม และที่วิหารหลวงวัดพระมหาธาตุฯ มีอายุอยู่ระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗–๒๐ สันนิษฐานว่าคงจะสร้างพระพุทธรูปพร้อมกันกับการสร้างอุโบสถ (หลังเก่า) มีขนาดหน้าตัก ๑๘๓ นิ้ว สูงประมาณ ๑๙๕ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ สมัยต่อมามีการบูรณะบ้าง

ภาพจาก : https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/21305

ภาพจาก : https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/21305

ภาพจาก : http://wattaocoat.blogspot.com/2010/06/blog-post_12.html


อุโบสถภายก่อนการบูรณะ

อุโบสถภายหลังการบูรณะ
ภาพจาก : http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12220393/E12220393.html

ภาพระประธานในอุโบสถหลังเก่า

ภาพจาก : hhttps://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/213

จิตรกรรม 

  จิตรกรรมภายในอุโบสถวัดท้าวโคตรเป็นภาพจิตรกรรมที่ได้สร้างสรรค์เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เขียนลงบนไม้กระดานคอสอง เป็นภาพเขียนสีฝุ่น ขนาดภาพกว้าง ๓๗ เซนติเมตร ยาว ๕๖ เซนติเมตร ประดับไว้ที่เสายาวข้างละ ๕ ต้น ด้านซ้ายและด้านขวาของด้านหน้าพระประธานในอุโบสถสูงจากพื้นประมาณ ๓ เมตร เป็นภาพพุทธประวัติและทศชาดก จำนวน ๔๐ ภาพ คงจะได้รับการสร้างสรรค์เขียนขึ้นในคราวที่มีการสร้างหลังคาของอุโบสถแทนของเดิมที่ปรักหักพังลงไป อายุประมาณสมัยรัชกาลที่ ๔

ภาพจาก : hhttps://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/213

ใบเสมา

ภาพจาก : http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/collections/nakaornsrithammarat/item/92-wat-taokot-004.html

     ใบเสมารอบ ๆ อุโบสถหลังเก่าซึ่งประดิษฐานอยู่ทางด้านนอกของอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานทั้ง ๘ ทิศ แต่ละใบสูงประมาณ ๑๔๐ เซนติเมตร ในเสมาเหล่านี้สลักด้วยหินทราย สลักด้วยแบบเดียวกันทั้ง ๒ ด้าน ส่วนฐานเป็นรูปสามเหลี่ยมพื้นผ้า ถัดจากฐานขึ้นไปมีลักษณะคอดกิ่ว แล้วค่อย ๆ ผายออกทางด้านบน แล้วค่อย ๆ โค้งมนเป็นส่วนยอดที่มีปลายแหลมคล้ายใบโพธิ์ ภายในสลักด้วยลวดลายพรรณพฤกษา อาจจะศึกษาเปรียบเทียบกันได้กับใบเสมาในศิลปะอู่ทองที่ค้นพบในภาคกลางของประเทศไทย ด้านรูปแบบของศิลปะนั้นนักโบราณคดีสันนิฐานว่าอาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลางคือราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑–๒๒ โดยพิจารณาจากขนาดซึ่งเล็กกว่าสมัยอยุธยายุคต้นแต่ยังใหญ่สมัยอยุธยายุคปลาย และรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ลวดลายดอกไม้ออกก้านขดที่ดูใกล้เคียงกับธรรมชาติก็เป็นที่นิยมในยุคดังกล่าวด้วย

     

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดท้าวโคตร (Wat ThaoKhot)
ที่อยู่
ถนนราชดำเนิน บ้านนาเดิม หมู่ที่ ๒ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
จังหวัด
นครศรีธรรมราช
ละติจูด
8.404061647
ลองจิจูด
99.9707001108



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เฉลียว เรืองเดช, วัดท้าวโคตร, "สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่มที่ 4 (2542), 

ฐานข้อมูลศิลปกรรมภาคใต้. (2559). ฐานเจดีย์ วัดท้าวโคตร จ. นครศรีธรรมราช.  สืบค้นวันที่ 25 ธ.ค. 2561, จาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/

         /collections/nakaornsrithammarat/item/93-wat-taokot-005.html

ประวัติวัดท้าวโคตร. (2553). สืบค้นวันที่ 25 ธ.ค. 2561, จาก http://wattaocoat.blogspot.com/2010/06/blog-post_12.html

พระประธานในอุโบสถ วัดท้าวโคตร จ. นครศรีธรรมราช. (2559). สืบค้นวันที่ 25 ธ.ค. 2561, จาก www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/

        collections/nakaornsrithammarat/item/89-wat-taokot-001.html

วัดท้าวโคตร. (2561). สืบค้นวันที่ 25 ธ.ค. 2561, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/21305


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024