อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
 
Back    27/12/2021, 16:42    192  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

        แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สําคัญทั้งทางบกและทางทะเลอีกแห่งหนึ่งที่มีหมู่เกาะที่มีแนวปะการังน้ำตื้น ที่มีความอุดมสมบูรณ์และใหญ่ที่สุดของอันดามัน เหมาะแก่ผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมการดําน้ำตื้น ด้วยมีแนวปะการังที่สวยงามและพันธุ์ปลากว่า ๓๐๐ ชนิด อีกทั้งสถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่อาศัยของชาวมอแกน ยิปซีทะเลกลุ่มสุดท้ายของไทย ที่อาศัยทะเลในการดํารงชีวิต สถานที่แห่งนี้คืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 
         หมู่เกาะสุรินทร์ตั้งอยู่ในท้องที่ตําบลเกาะพระทอง อําเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นหมู่เกาะที่มีแนวปะการังน้ำตื้น ที่มีความสวยงาม สมบูรณ์และใหญ่ที่สุดของอันดามัน มีพื้นที่ที่เป็นแนวปะการังน้ำตื้นที่มีอายุมากกว่า ๘๐,๐๐๐ ปี มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทางทะเลสูงสุด ๑ ใน ๓ ของประเทศไทย นักดําน้ำสามารถเห็นปลาไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ชนิด และยังเป็นที่อยู่อาศัยของมอแกนยิปซีทะเลกลุ่มสุดท้ายของไทย พระยาสุรินทราชา เทศาเมืองภูเก็ต ได้สํารวจทะเลฝั่งอันดามันและได้ ตั้งชื่อกลุ่มเกาะบริเวณนี้ว่า หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งได้ประกาศเป็นอุทยานแห่ง ชาติเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลําดับที่ ๓๐ ของ ประเทศไทย ต่อมาได้ผนวกพื้นที่กองหินริเซลิวเข้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๑๔๑.๒๕ ตารางกิโลเมตร
         
   หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นหมู่เกาะที่อยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากเส้นเขตแดนไทย-พม่า เพียง ๘ กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ จำนวน ๕ เกาะ คือเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี (เกาะสตอร์ค) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะไข่ (เกาะตอรินลา) ในบริเวณเดียวกันนี้ยังมีกองหินที่โผล่พ้นน้ำ อีก ๒ แห่ง ได้แก่หินแพ และหินกอง ซึ่งห่างจากเกาะสุรินทร์ไปประมาณ ๑๔ กิโลเมตร เป็นกองหินปริมน้ำเรียกว่าริเชลิว ส่วนด้านเหนือของอุทยานแห่งชาติเป็นเขตแดนติดต่อกับประเทศพม่าทางด้านใต้ ในระยะที่ไม่ห่างกันนัก และเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
       
     อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีเกาะขนาดใหญ่ ๒ เกาะ โดยวางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยคั่นด้วยของแคบที่เรียกว่าอ่าวช่องขาดขนาด ๒๐๐ เมตร โดยมีจุดสูงสุดที่เกาะสุรินทร์ใต้สูง ๓๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล และ ๒๔๐ เมตร ที่เกาะสุรินทร์เหนือ ลักษณะทางธรณีประกอบไปด้วย หินแกรนิตยุคครีเทเชียส (๑๔๖-๑๖๕ ล้านปี) หมู่เกาะสุรินทร์มีสภาพชายหาดที่กําบังคลื่นลมได้ทั้ง ๒ ฤดู อันเนื่องจากการวางตัวอยู่เป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ สภาพแวดล้อมยังเหมาะสมต่อการพัฒนาของแนวปะการัง คือน้ำใส อุณหภูมิพอเหมาะ และมีการผสมผสานของน้ำที่ได้รับสารอาหารจากมวลน้ำเบื้องล่างที่ปะทะเกาะมีความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารของปลาและสัตว์อื่น ๆ 


ภาพจาก : หมู่เกาะสุรินทร์ : คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา, 2554, 40


         อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อยู่เหนือสุดของอันดามันห่างจากเส้นเขตแดนไทยพม่าเพียง ๑๕ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งหมู่เกาะแห่งหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่ามีแนวปะการังน้ำตื้นที่สวยและสมบูรณ์ที่สุดของเมืองไทย ที่แห่งนี้เป็น ป่าดงดิบเขตร้อนชื้นมีระบบนิเวศหลากหลายทั้งบนแผ่นดินและพื้นน้ำ นามเกาะสุรินทร์ แห่งนี้ได้จากพระยาสุรินทราชา เทศาเมืองภูเก็ต (นามเดิมนกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้ตั้งชื่อหมู่เกาะสุรินทร์ตามราชทินนามของท่าน เมื่อครั้งที่ท่านมาสํารวจทะเลฝั่งอันดามันที่ตําบลเกาะพระทอง อําเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๔ กรมป่าไม้จึงได้ประกาศให้พื้นที่หมู่เกาะ สุรินทร์ ท้องที่อําเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๑๙ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๑๙ เห็นชอบในหลักการที่กําหนดให้หมู่เกาะ สุรินทร์เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่เนื่องจากหมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในเขตสัมปทานปิโตรเลียม แปลงที่ ตก. ๙ wl ของบริษัท WEEKS PETROLEUM กรมทรัพยากรธรณีจึงขอให้ ระงับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ก่อน และต่อมาได้ถูกเสนอให้เป็นค่ายญวนอพยพ แต่เนื่องจากสภาพ ภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรอันล้ำค่าทั้งบน บกและในท้องทะเล ประกอบกับทิวทัศน์ธรรมชาติทางทะเลอันงดงามเหมาะที่จะจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษา หา ความรู้ในด้านธรรมชาติวิทยา กรมป่าไม้ จึงได้คัดค้านและให้กองอุทยานแห่งชาติดําเนินการสํารวจบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง กองอุทยานแห่งชาติได้ดําเนินการสํารวจบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ ปรากฏว่ มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงามมีปะการัง ตลอดถึงสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ หาดทรายขาวสะอาด และนกนานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๒๓ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๓ เห็นสมควรให้กําหนดให้บริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลโดยมีพระราชกฤษฎีกากําหนด บริเวณที่ดินบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ในท้องที่อําเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ภายใต้ชื่อว่าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์  ซึ่งนับเป็นอุทยานแห่งชาติ ลําดับที่ ๒๙ ของประเทศไทย


พระยาสุรินทราชา เทศาเมืองภูเก็ต ผู้ค้นพบและตั้งชื่อหมู่เกาะสุรินทร์

               อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันในอําเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๕ ตารางกิโลเมตร ในจํานวนนี้เป็นพื้นน้ำเสียประมาณ ๑๐๒ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นดินประมาณ ๒๔ เปอร์เซ็นต์ โดยมีอาณาเขตด้านทิศเหนืออยู่ติดชายแดนประเทศสหภาพพม่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ครอบคลุมพื้นที่เกาะต่าง ๆ จำนวน ๕ เกาะ โดยมีเกาะขนาดใหญ่ ๒ เกาะ วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ คั่นด้วยช่องแคบขนาด ๒๐๐ เมตร ซึ่งสามารถเดินถึงกันได้เมื่อน้ำลงต่ำสุด ได้แก่เกาะสุรินทร์เหนือ ซึ่งมีขนาด ๑๘.๗ ตารางกิโลเมตร เกาะสุรินทร์ใต้มีขนาด ๑๑.๖ ตารางกิโลเมตร และเกาะเล็ก ๆ ซึ่งอยู่เรียงรายกันอยู่อีก ๓ เกาะ คือเกาะรี (เกาะสตอร์คหรือเกาะไฟแว้บ) เกาะไข่ (เกาะตอนลาหรือเกาะราบ) และเกาะกลาง (เกาะปาจุมบาหรือเกาะมังกร) ลักษณะเกาะเป็นเทือกเขาที่มีระดับความสูงไม่มากนัก จุดสูงสุด ณ เกาะสุรินทร์ใต้คำนวณได้คือ ๓๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และ ๒๔๐ เมตร ที่เกาะสุรินทร์เหนือ แหล่งน้ำจืดมีทั้งเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ ส่วนเกาะอื่น ๆ มีที่ราบเพียงเล็กน้อยตามบริเวณรอบอ่าว มีหาดทรายแคบ ๆ และหุบเขา ลักษณะชายฝั่งโดยทั่วไปของหมู่เกาะสุรินทร์จะเว้าแหว่งเป็นอ่าวขนาดเล็ก และขนาดใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป 
               ลักษณะทางธรณี ประกอบด้วยหินแกรนิตที่เกิดในยุคจูราสสิก ( Jurassic )ด้วยเหตุที่หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ห่างจากชายฝั่งถึง ๖๐ กิโลเมตร จึงทําให้ได้รับอิทธิพลต่าง ๆ จากชายฝั่งไม่มากนัก ทั้งบริเวณรอบเกาะยังเป็นเขตน้ำลึกมากกว่า ๕๐ เมตร และการไหลเวียนของน้ำบริเวณรอบ ๆ เกาะกับทะเลเปิดเป็นไปอย่างสะดวก รวมทั้งป่ายังอยู่ในสภาพอุดมสมบูรณ์อย่างมาก จึงป้องกันดินพังทะลายได้เป็นอย่างดี ทําให้น้ำทะเลบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์มีความโปร่งใสสูงอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มีภูมิอากาศแบบมรสุมแบ่งเป็น ๓ ฤดู ได้แก่ฤดูร้อน โดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างจากฤดูมรสุม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูที่มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านทําให้อากาศเย็นทั่วไป แต่เนื่องจากเป็น บริเวณที่มีทะเลล้อมรอบเกาะอุณหภูมิจะลดลงเพียงเล็กน้อย อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนัก โดยจะมีฝนตกทั่วไปแต่ปริมาณไม่มากเหมือนในฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในแต่ละปีจะมีค่ามากกว่า ๓,๐๐๐ มิลลิเมตร เนื่องจากสภาพพื้นที่อยู่ด้านฝั่งทะเลอันดามันทําให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างเต็มที่ความชื้นสัมพัทธ์ จึงอยู่ในเกณฑ์สูงตลอดทั้งปีเพราะได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดู ค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ ๘๓-๘๔ เปอร์เซ็นต์ ชาวเลซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยและดำารงชีวิตอยู่แถบทะเลอันดามันนี้มานานนับร้อยๆ ปี เกาะและชายฝั่งทะเลแถบอันดามัน เหนือ (ระนองและพังงา) ประกอบด้วย

- ชาวเลมอแกนซึ่งเดิมอาศัยอยู่ในเรือ เดินทางไปมาตามเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามันรวมทั้งหมู่เกาะมะริด (Mergui Archipelago) ส่วนอันดามันกลาง (พังงาและภูเก็ต) มีชาวเลมอแกน ตั้งหลักแหล่งบริเวณชายฝั่งทะเลหรือลึกเข้ามาในแผ่นดิน แต่ส่วนหนึ่งก็ยังทํามาหากินที่เกี่ยวข้องกับทะเล และอันดามันใต้ (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล)
- ชาวเลอรักลาโว้ยซึ่งตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ทํามาหากินและมีวิถีผูกพันกับทะเลอย่างเหนียวแน่น

          ชาวเลพื้นเมืองเหล่านี้มีวิถีชีวิตที่โดดเด่น คือในอดีตมีการเดินทางทํามาหากินอพยพ โยกย้ายไปตามเกาะและชายฝั่งทะเลอันดามันบ่อยครั้ง จนได้รับการขนานนามมาจากชาวอังกฤษที่เข้ามาในยุคอาณานิคมแถบนี้ว่ายิปซีทะเล (Sea Gypsy) แต่ในความเป็นจริงชาวเลเหล่านี้ไม่ได้เดินทางเร่ร่อนตลอดปี แต่ปรับวิถีชีวิตตามภูมิ อากาศของท้องถิ่น กล่าวคือฝั่งทะเลและเกาะในบริเวณทะเลอันดามัน ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ทะเลจึงมีคลื่นลมซึ่งจํากัดการเดินทาง โดยเรือในช่วงฤดูนี้ชาวเลมักตั้งหลักแหล่งสร้างเพิงเล็ก ๆ อยู่บนฝั่งที่อ่าวหลบลม ในขณะที่อีกครึ่งปีอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทําให้อากาศค่อนข้างแห้งคลื่นลมสงบ ชาวเลจึงออกเดินทางหากินในทะเลใต้อย่างอิสระเดินทางไปตามเกาะไกล ๆ ได้โดยใช้เรือ ชาวเลมีความคุ้นเคยและเข้าใจทะเล โดยสามารถสังเกตคลื่นลม อากาศ กระแสน้ำ และข้างขึ้นข้างแรม รวมทั้งมีความรู้ที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับวงจรธรรมชาติ มีความรู้เกี่ยวกับสภาพลมฟ้าอากาศทางทะเลและทักษะการจับสัตว์ทะเลที่ได้มาจากการเล่นและฝึกฝนมาตั้งแต่ยังเด็ก ในสมัยก่อนชาวเลไม่ต้องมีอุปกรณ์ในการจับสัตว์ทะเลที่ค่อนข้างซับซ้อน เครื่องมือการจับสัตว์หลัก ๆ คือแว่นตาดําน้ำ ฉมวกหรือสามง่าม เหล็กแหลมยาวมีปลายเป็นตะขอ ค้อนเล็ก และเหล็กตอกหอย
         
ชาวเลมีอภิธานศัพท์เกี่ยวกับพื้นที่ทางทะเลที่หลากหลาย มีคําเรียกชื่อคลื่นที่สะท้อนถึงแรงและทิศทางลม ความลึกของทะเล และรูปลักษณะของคลื่น นอกจากนี้ยังรู้จักพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในป่าเพราะวิถีดั้งเดิม ก็อาศัยพึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้มาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี และยังถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นหลังต่อ ๆ  ชาวเลมอแกนมีพื้นที่อยู่อาศัยและทํามาหากินที่กินอาณาเขตกว้างขวาง ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ในพื้นที่เหล่านี้มีสุสานเก่าและสถานที่ที่มีความสําคัญด้านจิตวิญญาณ และประวัติศาสตร์ของชาวมอแกน โดยมอแกนที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จะตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณอ่าวไทรเอนทางด้านตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือและอ่าวบอน ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ ซาวมอแกนจะนับเวลาจะสังเกตจากดวงจันทร์ไม่มีศาสนา แต่จะนับถือผีสิ่งที่ไม่มีตัวตน หากมีใครเสียชีวิตจะนําศพไปฝังไว้ในบริเวณด้านทิศเหนือของอ่าวแม่ยาย ในเดือนเมษายนของทุกปีมอแกนที่อยู่ตามเกาะต่าง ๆ จะมารวมตัวกันที่หมู่เกาะสุรินทร์มาประกอบพิธีลอยเรือเพื่อบวงสรวงผีและวิญญาณของบรรพบุรุษดอีกทั้งเป็นการสะเดาะเคราะห์ ให้ปลอดภัยและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง อ่าวแม่ยายอยู่ยนเกาะสุรินทร์เหนือเป็นอ่าวขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ ในอดีตพื้นที่บริเวณอ่าวแม่ยายมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรใต้น้ำสูง ทั้งชนิดของปะการัง ปลา และมีสิ่งมีชีวิตหายากอีกหลายชนิด ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม แต่เนื่องจากอ่าวแม่ยายเป็นอ่าวขนาดใหญ่มีระดับน้ำค่อนข้างลึก โดยมีปีกอ่าวสามารถป้องกันคลื่นลมได้ดี จึงเป็นจุดที่เรือท่องเที่ยวและเรือประมงมักเข้ามาหลบลม ซึ่งเรือที่เข้ามาหลบลมซึ่งจะมีการปล่อยของเสียจากห้องน้ำและการซักล้างภายในเรือลงสู่ทะเล ส่วนเรือประมงจะมีการล้างอวนที่มีเมือกจากตัวปลาและเศษซากต่าง ๆ รวมถึงการล้างเครื่องมือประมง กิจกรรมเหล่านี้เป็นการเพิ่มปริมาณสารอาหารให้แก่แนวปะการัง ซึ่งโดยปกติแล้วแนวปะการังบริเวณเกาะสุรินทร์เป็นแนวปะการังที่อยู่ใกล้ฝั่งในสภาวะที่สมดุลของระบบนิเวศ พื้นที่บริเวณนี้จะมีปริมาณสารอาหารในแนวปะการังต่ำ ดังนั้นเมื่อมีการเพิ่มปริมาณสารอาหารในปริมาณมาก จึงส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นการแก่งแย่งพื้นที่ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในบริเวณ เดียวกันแนวปะการังในบริเวณอ่าวแม่ยายเคยได้ รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) และถูกปกคลุมไปด้วยสาหร่ายหูหนูทางอุทยานแห่งชาติ จึงได้ปิดพื้นที่เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง แต่ในปัจจุบันแนวปะการังในอ่าวแม่ยายเริ่มฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ ในขณะที่บริเวณชายฝั่งมีป่าชายหาดและหาดทรายที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ชายฝั่งทะเลและนกทะเล เช่น นกกระแตผีชายหาด บริเวณนี้ จึงจัดเป็นบริเวณที่มีความสําคัญในด้านความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าขายหาดอันเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าที่สําคัญ ดังนั้นเพื่อให้สามารถดํารงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายหาดบนเกาะผืนใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะสุรินทร์ และอนุรักษ์แนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์เป็นตัวแทนของพื้นที่ไว้ จึงกําหนดให้บริเวณอ่าวแม่ยายเป็นเขตหวงห้าม โดยยกเว้นบริเวณปลายแหลมด้านตะวันออกของอ่าวแม่ยายมีอ่าวเล็ก ๆ ชื่ออ่าวอมังกา ซึ่งมีความเหมาะสมสําหรับการจอดเรือ ทั้งเรือใบจากประเทศต่าง ๆ หรือเรือท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่จะเข้ามาจอดหลบคลื่นลมในบางช่วงเวลา

              การท่องเที่ยวในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
           การท่องเที่ยวทางทะเลเป็นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่บางครั้งอาจจะมีเรื่องราวของวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กรณีของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ที่มีเรื่องชาวเลเข้ามาเกี่ยวข้องเนื่องจากทรัพยากรทางทะเลเป็นเรื่องที่เปราะบางและง่ายต่อการถูกทําลาย ในการจัดการ จึงจะต้องมีการจัดการเป็นระบบมีจิตสํานึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชน ในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมต่อการจัดการ และได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและท้ายที่สุดนักท่องเที่ยวพึงพอใจประทับใจในประสบการณ์และความรู้ใหม่ที่ได้รับ 
แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์นั้น มีความโดดเด่นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล เช่น ระบบนิเวศปะการังทั้งน้ำตื้น ปะการังน้ำลึก ความสวยงามของวิวทิวทัศน์หาดทรายและน้ำทะเล ล้วนเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้กับนักท่องเที่ยวให้เดินทางมา นอกจากนี้การเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมอแกนก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าศึกษา สําหรับบริเวณที่สามารถดำน้ำชมปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลนั้น  นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไป คือเกาะตอรินลาบางคนเรียกกองเหลือง บริเวณนี้มีทั้งแนวปะการังและกองหินใต้น้ําสลับกันจัดเป็นจุดดําน้ำที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งมีอาณาเขตเกือบทั่วร่องน้ำระหว่างเกาะตอรินลากับเกาะสุรินทร์ใต้มีดงปะการังเขากวางขนาดใหญ่


          อ่าวช่องขาด
          อ่าวช่องขาด อยู่ระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นร่องน้ำมีความกว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร แนวปะการังในอ่าวช่องขาดอยู่ประมาณกลางร่องน้ำความลึกประมาณ ๑-๓ เมตร บางครั้งเวลาน้ำลงปะการังหลายจุดจะโผล่พ้นน้ำ จึงถือว่าบริเวณนี้เป็นจุดที่มีน้ำตื้น ปะการังส่วนใหญ่เป็นปะการังก้อน ปะการังจาน ปะการังสมอง ปะการังเขากวาง มีดอกไม้ทะเลฐานม่วง ฟองน้ำ หอยมือเสือ และปลาการ์ตูน เช่น ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนบั้งขาว ปลาจิ้มฟันจระเข้ขนยาวขนาดเล็ก เป็นต้น

           อ่าวไม้งาม
           อ่าวไม้งาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวปิดคลื่นลมสงบ บริเวณนี้จะมีพบปะการังโขต ปะการังไฟปะการัง ดอกกะหล่ำ ปะการังเห็ด ปะการังเขากวาง ปะการังดาวใหญ่ ดอกไม้ทะเล และปลิงทะเล อ่าวนี้จะเชื่อมต่อโดยการเดินเท้าจากอ่าวช่องขาดมาได้ ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร


          อ่าวไทรเอน
           อ่าวไทรเอน ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ ด้านในติดชายฝั่งเป็นอ่าวน้ำตื้น โดยมีแนวปะการังขนาดใหญ่ มีปะการังโขด ปะการังผิวยู่ยี่ และปะการังนิ้วมือผิวขรุขระ

           อ่าวจาก
           อ่าวจาก ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ ใช้เวลาเดินทางโดยเรือหางยาวประมาณ ๔๕ นาที เป็นแนวปะการังในอ่าวใหญ่มีขอบแนวปะการังห่างจากชายฝั่ง ๒๐๐-๔๐๐ เมตร ด้านในเป็นปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม ส่วนด้านนอกพบปะการังโขด ปะการังไฟแบบแผ่น ปะการังดาวใหญ่ ปะการังเขากวางและปะการังสีน้ำเงิน ถ้ามองจากทางอากาศจะเห็นว่าแนวปะการังบริเวณนี้มีหลุมสีฟ้ากลม ๆ ซึ่งเราเรียกว่า “Blue Hole” เป็นแนวปะการังในเขตน้ำลึก เกิดจากแนวปะการังปัจจุบันที่สร้างตัวอยู่บนแนวปะการังในอดีต เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ น้ำหนักของปะการังมีมากเกินไปจะทับจนแนวปะการังในอดีตที่อยู่ด้านล่างพังถล่มไป กลายเป็นหลุมกลมในเมืองไทยพบน้อยมาก แต่พบมากที่สุดที่เกาะสุรินทร์ เนื่องจากหลุมลักษณะนี้เกิดขึ้นกับปะการังที่สมบูรณ์มาก ๆ และมีพัฒนาการเป็นระยะเวลานานเท่านั้น ถือว่าเป็นแนวปะการังน้ำตื้นที่ดีที่สุดของประเทศไทย

            อ่าวเต่า
            อ่าวเต่า ตั้งอยู่ที่บริเวณปลายแหลมของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวที่มีชายหาดเป็นทรายละเอียด มีแนวปะการังริมเกาะกว้างประมาณ ๕๐-๒๐๐ เมตร เป็นแนวปะการังหักชันลงลึกประมาณ ๒๐-๒๕ เมตร ตลอดถึงปะการังขนาดเล็กและปะการังหลากพันธุ์ บริเวณขอบแนวปะการังพบปะการังโขดขนาดใหญ่ ปะการังอ่อนและกัลปังหาเป็นหย่อม ในน้ำลึกบริเวณนี้มีโอกาสพบเต่ากระ และฉลามวาฬ 

           อ่าวผักกาด
           อ่าวผักกาด เป็นอ่าวขนาดเล็กอยู่ทางทิศใต้ของอ่าวเต่า มีแนวปะการังริมฝั่งกว้างประมาณ ๕๐-๑๕๐ เมตร มีหาดที่ไม่ใหญ่มากมักและมีทรายหยาบ ปะการังที่พบ เช่น ปะการังอ่อนและกัลปังหา ปะการังโขด ปะการังเขากวางและปะการังดอกกะหล่ำ นอกจากนี้ยังมีปลาเกือบทุกชนิดที่มีในบริเวณเกาะสุรินทร์ โดยเฉพาะปลาผีเสื้อ และปลาสินสมุทร ดอกไม้ทะเล และหอยมือเสือ

            อ่าวสุเทพ
            อ่าวสุเทพ ถือเป็นอ่าวที่ใหญ่ที่สุดของเกาะสุรินทร์ใต้ มีแนวปะการังยาวถึง ๑,๒๐๐ เมตร ห่างจากฝั่ง ๒๐๐-๕๐๐ เมตรหรือมากกว่านี้ บริเวณนี้จะพบปะการังโขด ปะการังนิ้วมือผิวขรุขระ ปะการังไฟ ปะการังสีน้ำเงิน ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง และปะการังโต๊ะ 

             อ่าวแม่ยาย
             อ่าวแม่ยาย อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวที่คลื่นลมสงบเป็นจุดดําน้ำและดูปะการังน้ำตื้น ที่นี้จะมีน้ำทะเลที่ใสราวแผ่นกระจกสามารถมองทะลุผ่านจนเห็นลานปะการังอันกว้างใหญ่สุดสายตา ในระดับความลึกประมาณ ๑.๒-๓ เมตร มีทั้งปะการังโขดขนาดใหญ่ ปะการังจาน ปะการังนิ้วมือผิวขรุขระ ปะการังเขากวางกิ่งสีม่วงและสีเทา มีฟองน้ำครกขนาดใหญ่แทรกตัวท่ามกลางหมู่ปะการัง หอยมือเสือที่ฝังตัวแน่นกับปะการังก้อน และเต็มไปด้วยปลาเล็ก ๆ เช่น ปลาการ์ตูนสีส้ม ปลาผีเสื้อ ปลาสิงโตมาน ปลาปากแตร ปลาพยาบาล เป็นต้น

              เกาะไข่ (เกาะตอรินลา)
              เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เป็นเกาะขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ ด้านตะวันออกของเกาะมีแนวปะการังน้ำตื้น ที่สมบูรณ์มาก มีดงปะการังเขากวางที่กว้างใหญ่ ยังพบปลาโนรี ปลาสินสมุทร ปลาการ์ตูนและปลาอื่น ๆ อีกหลายชนิด เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี จึงจัดเป็นพื้นที่สงวนสําหรับการศึกษาและฟื้นฟู ไม่อนุญาตให้ดําน้ำยกเว้นบริเวณร่องเกาะซึ่งเป็นจุดดําน้ำลึกที่สวยงามแห่งหนึ่งของเกาะสุรินทร์ มีแนวปะการังและกองหินบนพื้นสลับกัน ปลาที่พบบริเวณนี้ มีตั้งแต่ปลาไหลสวน ฉลามครีบเงิน ฉลามเสือดาว กระเบนหางแส้ ปลากะรังหน้างอน ฝูงปลาค้างคาว และปลาไหลริบบิ้น

              หินกองหรือหินราบ
              หินกองหรือหินราบอยู่ด้านเหนือของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นกองหินที่โผล่พ้นน้ำ มีสันหินทอดยาวไปทางทิศตะวันตก ใกล้เกาะมีหินก้อนใหญ่ ๆ จํานวนมาก ด้านตะวันออกเป็นผาชันลงสู่ความลึกมากกว่า ๓๐ เมตร หินราบเป็นกองหินกลางทะเลนี้ ในช่วงที่มีคลื่นลมแรงจะอันตรายมาก เนื่องจากกองหินที่มีขนาดเล็กไม่สามารถบังคลื่นลมได้ บางช่วงอาจมีกระแสน้ำไหลแรงมาก ทัศนวิสัยทั่วไปของหินกองประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร บางครั้งอาจมากถึง ๓๐ เมตร แต่บางช่วงน้ำอาจขุ่นมาก ลักษณะเหมือนกับน้ำของเกาะสุรินทร์ทั่ว ๆ ไป หินกองหรือหินราบนี้เป็นจุดที่มีนักดําน้ำมาค่อนข้างน้อย ทำให้ปลาแถวนี้เชื่องและไม่กลัวคน บางจุดพบกัลปังหาขนาดใหญ่หลายต้น โดยเฉพาะตอนปลายของหินด้านทิศตะวันออก ตามหินมักมีทากทะเลอาศัยอยู่ หลายชนิดเป็นทากหายากและมีสีสันสวยแปลกตา จัดเป็นจุดชมทากทะเลดีที่สุดแห่งหนึ่งในหมู่เกาะสุรินทร์ สัตว์พวกกุ้งปูพบอยู่บ้างตามกองหิน เช่น ปู ดอกไม้ทะเล ฯลฯ ซึ่งจะพบหมึกกระดองอยู่เป็นประจํา บางครั้งมีฝูงปลากล้วยขนาดใหญ่ผ่านเข้ามา อาจพบฉลามบ้างเป็นบางครั้ง มีทั้งฉลามเสือดาว ฉลามครีบเงิน และ ฉลามครีบขาว มักอยู่ปลายสันหินค้านตะวันออก สิ่งที่ควรระวัง คือหินแถวนี้มีไฮดรอยด์ (Hydroid) ขนาดเล็ก จำนวนมาก (ไฮดรอยด์เป็นสัตว์ที่ดูภายนอกคล้ายขนนกหรือก้านใบเฟิร์น (แต่มีสีน้ำตาล) เกาะยึดอยู่กับหินหรือก้อนปะการังอื่น ๆ มีลักษณะคล้ายกับปะการังที่อ่อนไหวไปตามกระแสน้ำ แต่มีพิษรุนแรงปานกลางเหมือนปะการังไฟและแมงกะพรุน) บางชนิดมีขนาดเล็กจนมองแทบไม่เห็น แต่โดนเข้าไปแล้วจะมีอาการคัน หลายวันจึงจะหาย


เกาะไข่ (เกาะตอนลาหรือเกาะราบ)

              เกาะกลาง (เกาะปาจุปบาหรือเกาะมังกร)
           เกาะกลาง (เกาะปาจุปบาหรือเกาะมังกร) มีพื้นที่ประมาณครึ่งตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นที่อยู่อาศัยของกุ้งมังกรขนาดใหญ่จํานวนมาก จึงได้ชื่อว่าเกาะมังกร แต่บริเวณบนเกาะกลางและชายหาดทั้งหมดนี้ เป็นพื้นที่หวงห้ามสําหรับการอนุรักษ์เต่าทะเล บริเวณหน้าอ่าวมังกรซึ่งอยู่ทางด้านนอกของเกาะมีระดับน้ำลึกไม่มาก สามารถดําน้ำแบบผิวน้ำในบริเวณนี้ได้ ส่วนชื่อเกาะกลางนั้นเพราะตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้



เกาะกลาง (เกาะปาจุมบาหรือเกาะมังกร)

               เกาะรี (เกาะสตอร์คหรือเกาะไฟแวบ)
               เกาะรี (เกาะสตอร์คหรือเกาะไฟแวบ) สำหรับบริเวณด้านทิศตะวันออกของเกาะนี้เป็นแหล่งดําน้ำ ที่มีแนวปะการังสมบูรณ์แห่งหนึ่ง     


               ร่องเกาะตอรินลา
             ตอรินลาเป็นจุดดําน้ำชั้นยอดของเกาะสุรินทร์บางคนเรียกกองเหลือง บริเวณนี้มีทั้งแนวปะการังและกองหินบนพื้นสลับกัน จัดเป็นจุดดําน้ำที่ใหญ่มาก กินอาณาเขตเกือบทั่วร่องน้ำระหว่างเกาะตอรินลาและเกาะสุรินทร์ใต้ บริเวณนี้ยังมีปลากระโทงแทงจำนวนมาก ร่องน้ำเกาะตอรินลา มีชื่อเสียงในเรื่องกระแสน้ำอันรุนแรง หากใครหลงน้ำอาจหลุดลอยไปไกลเป็นกิโลเมตร ปัญหาหลักคือจุดนี้มีเป้าหมายให้สังเกตน้อยมาก บางครั้งลงไปโอกาสหลงไปเรื่อย ๆ นักดำน้ำควรจะลงตามแนวปะการังว่ายให้ปะการังอยู่ด้านซ้าย มาจนเจอกัลปังหากรวยขนาดใหญ่ ก่อนเลี้ยวออกไปกองหินด้านนอก ระหว่างแนวปะการังกับกองหินจะมีร่องน้ำแคบ ๆ เป็นพื้นทรายกันอยู่ เมื่อออกไปกองหินค้านนอกแล้วอาจหลงมันไปมา ควรตั้งเข็มทิศไว้ด้วยหากมีกระแสน้ำแรงจุดนี้ต้องระวังให้มาก บางครั้งกระแสน้ำไหลวนไหลไปด้านโน้นบ้างด้านนี้บ้างบอกทิศทางได้ไม่แน่นอน ควรมีผู้นําที่ชํานาญพื้นที่ถ้าไม่มีขอให้ว่ายอยู่ในจุคแคบ ๆ อย่าว่ายไปไกลมากนักอาจเกิดอันตรายได้ 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
ที่อยู่
ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 82150
จังหวัด
พังงา
ละติจูด
9.536965
ลองจิจูด
96.788217



บรรณานุกรม

รัตนา ลักขณาวรกุล, บรรณาธิการ. (2554). หมู่เกาะสุรินทร์ : คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา.
          กรุงเทพฯ : ส่วนนันทนาการและสื่อความหมาย สำนักอุทยานแห่งชาติ.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024