บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนา คณะกรรมการบริหารหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา หัวข้อ “หลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่ตอบสนองความต้องการในยุคใหม่” เพื่อร่วมรับฟังมุมมองการปรับเปลี่ยนการบริหารหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และสถานการณ์โลกในปัจจุบัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการหลักสูตรที่ มุ่งเน้นการบูรณาการ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช และศาสตราจารย์ ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุม ทางไกลวิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้ง 5 วิทยาเขต ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช กล่าวถึงระบบของหลักสูตรในปัจจุบันต้องมีการปรับรวมถึงการเรียน การสอนด้วย และสิ่งที่ต้องปรับมากที่สุด คือ กระบวนความคิดต่อนักศึกษา คำตอบต่อคำถามว่านักศึกษา คือใคร ซึ่งนักศึกษาในที่นี้ไม่ใช่แค่บัณฑิตศึกษาอย่างเดียว ทั้งนี้รวมถึงปริญญาตรี และแม้กระทั่งเด็กนักเรียน ในการซึมซับหรือรับการถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป มาเป็นผู้ร่วมสร้างความรู้ เพราะฉะนั้นการเลือกนักศึกษา จะต้องเน้นที่แรงบันดาลใจ เป็นตัวหลัก เกรดจะเป็นตัวรอง ซึ่งแรงบันดาลใจเกิดการกระตุ้นสู่เป้าหมายสูงสุด ในการที่จะทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นบัณฑิตแห่งอนาคต คือสอนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง มหาวิทยาลัยต้องสร้างการเรียนรู้และการทำงาน เป็น รูปแบบให้นักศึกษาและอาจารย์ซึมซับเป้าหมาย เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมในองค์กร”
สรุปได้ว่าบัณฑิตศึกษาที่ตอบสนองความต้องการในยุคใหม่ ต้องเปลี่ยนโฉมทั้งระบบ ต้องปรับความคิด สภาวะแวดล้อมและการจัดการใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ หัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างสรรค์เพื่ออนาคต เป้าหมายหลัก ต้องเปลี่ยนจากผู้มีความรู้ เป็นสร้างผู้มีทักษะเรียนรู้ จากเรียนโดยรับการถ่ายทอดเป็นเรียนโดยปฏิบัติและคิด จากสถานการณ์จำลองเปลี่ยนเป็นสถานการณ์จริง จากมุ่งเน้นงานวิจัยเปลี่ยนเป็นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้
ด้านศาสตราจารย์ ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ พูดถึงทางออกของมหาวิทยาลัย คือ อาจารย์ใหม่ต้องการที่ปรึกษาที่เข้มแข้ง วิชาการแก่กล้า กำหนดจุดยืนตนเองใหม่ตามสถานการณ์และองค์กรที่กำลังเปลี่ยนไป แล้วเจรจากับ สถาบันต้นสังกัดในการกำหนดภาระงานในแต่ละช่วง คณาจารย์ทบทวน ส่วนได้ส่วนเสีย ให้รอบด้าน และแยกแยะให้ชัดเจน อีกทั้งผลักดันและดึงศักยภาพอาจารย์อาวุโสนำทีม ในการหารือกับ ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียอย่างจริงจัง ทุกคนเรียนรู้สิ่งใหม่ ที่จำเป็นสำหรับภาระงานที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะการบริหารจัดการการศึกษาและการวิจัย เพื่อปรับเข้ากับ หลักสูตรการศึกษา ของสถานการณ์ใหม่