เขาว่ากันว่าคนที่พูดถึงความหลัง พูดถึงอดีตคือคนแก่หรือเริ่มแก่ ก็คงจะมีส่วนจริงอยู่ครับ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นตัวบีบบังคับให้ต้องพูดถึงความหลัง จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเองประชาคม ม.อ. ส่วนหนึ่งในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือบุคลากร ของมหาวิทยาลัยเองไม่รู้ ไม่เข้าใจ ความเป็นมาหรือประวัติของมหาวิทยาลัย คำถามที่พวกเราพบบ่อย ๆ ก็คือ “เอ๊ะ ม.อ. นี่ย่อมาจากอะไร ม. คงเป็นมหาวิทยาลัย แต่ อ. อ่าง นี่อะไรนะ… คนจำนวนมากไม่ทราบ ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปเขาเรียกมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยอ่างน้ำ” อ่างเก็บน้ำสร้างเสร็จก่อนอย่างอื่น ต่อมาเมื่อมีตราของมหาวิทยาลัยปรากฎต่อสายตาชาวบ้านมากขึ้น คำถามต่อมาคือ “ม.อ.” ย่อมาจากอะไรก็มีมากขึ้น บางคนถึงพูดว่า “คงเป็นเสียงร้องของวัวมั้ง” เพราะตอนนั้นชาวบ้านนำวัวมาเลี้ยงกันในมหาวิทยาลัยอย่างสะดวกสบาย แต่ในความจริงแล้ว (ซึ่งคนส่วนหนึ่งใน ม.อ. ก็ไม่ทราบ) ว่า ม.อ. คืออักษรย่อของพระนามเดิมของสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้า “มหิดลอดุลยเดช”
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ แห่งที่ 3 ในส่วนภูมิภาคและแห่งที่ 9 ของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา สู่ดินแดนภาคใต้เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาของท้องถิ่นและเพื่อการสนับสนุนการพัฒนาภูมิภาค และนอกจากนี้ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขตในภาคใต้ เพื่อขยายโอกาสการศึกษาได้อย่างทั่วถึงในทุก ๆ จังหวัดอีกด้วย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลที่มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นว่าการจะพัฒนาภาคใต้ให้เจริญรวดเร็วนั้น จำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาทางด้านการศึกษา ซึ่งพิจารณาเห็นว่าเยาวชนในภาคใต้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นมัธยมศึกษาแล้ว ก็ต้องไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ หรือไม่ก็เดินทางไปศึกษาที่มาเลเซีย ปีนัง หรือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการสูญเสียเงินตราของประเทฺศ นอกจากนี้เนื่องจากในขณะนั้นสถานการณ์ในสี่จังหวัดภาคใต้ กำลังอยู่ในขั้นรุนแรงมาก ด้วยอิทธิพลของโจรก่อการร้าย และขบวนการแยกดินแดนกลุ่มต่าง ๆ นักสังเกตการณ์ในขณะนั้นได้ให้ความเห็นว่า เพื่อเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์รัฐบาลจึงดำริที่จะจัดสร้างสถาบันการศึกษาชั้นสูงขึ้นในภาคใต้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยผ่านทางรัฐมนตรีมหาดไทย ให้เป็นผู้จัดทำโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ โดยในขั้นแรกจะจัดเพียงขั้นวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (College of Arts and Sciences ) แล้วต่อไปจึงจะขยายให้เป็นมหาวิทยาลัย คณะกรรมการจัดตั้งได้ดำเนินการสรวจพื้นที่ที่จะจัดสร้างที่บริเวณทุ่งนเรนทร์ ต. บ่อทอง อ. หนองจิก จ .ปัตตานี โดยจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2506 ด้วยงบประมาณเพียง 5 แสนบาท ในระยะเริ่มแรก แต่โครงการดังกล่าวก็ต้องชะงักไป เพราะไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณ นี่เรียกว่ามหาวิทยาลัยภาคใต้ได้พบกับอุปสรรคตั้งแต่ยังไม่เกิดทีเดียว ต่อมาในวันที่ 4 เม.ย. 2505 เปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่จึงแต่งตั้งให้พันเอกถนัด คอมันตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ เป็นประธานกรรมการจัดทำโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ ปี 2508 คณะกรรมการพัฒมาภาคใต้ชุดใหม่นี้ได้ดำเนินการจัดทำโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ต่อไป จนกระทั่งได้รับอนุมัติจากคณะ รัฐมนตรี โดยมีหลักการใหญ่ 2 ข้อ คือให้มีมหาวิทยาลัยภาคใต้ มีศูนย์กลางที่ ต. รูสะมิแล อ. เมือง จ. ปัตตานี โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นก่อน ต่อไปจะจัดตั้งคณะครุศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ ที่ ต. เขาตูม จ. ยะลา คณะแพทยศาสตร์ ที่ ต. เขาลูกช้าง อ. เมือง จ. สงขลา ส่วนที่หาดใหญ่จะมีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สำหรับในปี 2509 จะมีงบประมาณให้ 30 ล้านบาท ต่อมา 9 ธ.ค. 2508 กรมโยธาเทศบาลในฐานะผู้รับผิดชอบในด้านการออกแบบอาคารต่าง ๆ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปสำรวจคุณสมบัติของดิน ณ บริเวณที่จะก่อสร้างที่ปัตตานี ในเดือน มี.ค. 2509 ก็ได้เริ่มงานการก่อสร้างที่ตำบลรูสะมิแลเป็นที่แรก ต่อมาคณะกรรมการจัดตั้งหาวิทยาลัยภาคใต้ พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้สถาบันการศึกษานี้เป็นศูนย์รวมในด้านจิตใจของประชาชนชาวไทย จึงได้ขอพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยแทนชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานนาม “สงขลานครินทร์”