ในปี พ.ศ. 2522 กระแสเรียกร้องจากประชาชนในจังหวัดตรัง เกี่ยวกับการให้มีสถาบันวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาการของประชากรจังหวัด ในปีอ พ.ศ. 2524 จังหวัดตรังได้มอบที่ดินจำนวน 686 ไร่ 57 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ “ทุ่งกง” ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยในระยะแรก มหาวิทยาลัยได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานีวิจัยทางการเกษตรของคณะทรัพยากรธรรมชาติ วิทยาเขตหาดใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องขอให้ขยายวิทยาเขตไปที่จังหวัดตรัง เนื่องจากจังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก และตัวจังหวัดยังเป็นศูนย์กลางของจังหวัดทางภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับจังหวัดตรังยังไม่มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา การประชุมระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และจังหวัดตรัง จึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการขยายการศึกษาไปที่จังหวัดตรังในหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2534 จึงได้ทำการเปิดโครงการขยายการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดตรัง ณ โรงเรียนเทศบาลวัดมัชฌิมภูมิ อ. เมือง จ. ตรัง ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมี ศ.ดร. เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีและได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ. ตรัง ในฐานะอุปนายกสภามหาวิทยาลัยฯ มาร่วมในพิธีเปิดด้วย ซึ่งทางโรงเรียนได้ให้มหาวิทยาลัยใช้เป็นสถานที่เรียนชั่วคราวในปีเดียวกัน ได้เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (เป็นหลักสูตรของคณะวิทยาการจัดการ) โดยจัดการเรียนการสอนชั้นปีที่ 1 และ 2 ที่อาคารเรียนของโรงเรียนเทศบาลวัดมัชฌิมภูมิ อ. เมือง จ. ตรัง และชั้นปีที่ 3 และ 4 เรียนที่คณะวิทยาการจัดการ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในปี พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็น “โครงการจัดตั้งวิทยาเขต” เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 มีจุดเน้นของการพัฒนาวิชาการโดยเน้นทางด้านสังคมศาสตร์ประยุกต์ธุรกิจ และอุตสาหกรรมการบริการ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบในเชิงธุรกิจ ในปี พ.ศ. 2542 นักศึกษารหัส 42 ย้ายจากสถานที่เรียนชั่วคราว (โรงเรียนเทศบาลวัดมัชฌิมภูมิ) มาเรียนยังวิทยาเขตตรัง ต. ควนปริง เป็นการถาวร
ในปีการศึกษา 2546 ได้จัดตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการจัคการ (Faculty of Commerce and Management) เพื่อผลิตบัณฑิตในหลักสูตรบริหารธุรกิจ 8 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการจัดการสารสนทศและคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการประกันภัย สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการบัญชี สาขาวิชาการบัญชี (ต่อเนื่อง) สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว และสาขาวิชาการพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ เขตการศึกษาตรัง มุ่งเน้นสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ประยุกต์ ธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบในเชิงธุรกิจและการจัดการ ปัจจุบันมีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ เป็นหน่วยงานภายใน