สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต ม.อ. วันที่ 10 พฤษภาคม 2566

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2564 ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2566 วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เวลา 12.41 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปยังศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2564 เป็นวันแรก ในโอกาสนี้ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย อุปนายกนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กราบทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในรอบปีการศึกษา 2564 ซึ่งเป็นปีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปฏิบัติภารกิจรับใช้สังคมและประเทศชาติ ครบรอบปีที่ 54 ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย การดำเนินงานที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ประจำปี 2564 จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ มีสาขาวิชาที่เปิดสอนทั้งสิ้น 340 สาขาวิชา โดยปีนี้สภามหาวิทยาลัยฯ ทูลเกล้าถวายปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (หลักสูตรและการสอน) แด่ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พยาบาลศาสตร์) แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา  ในโอกาสนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ กราบทูลถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสทูลเกล้าถวายปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (หลักสูตรและการสอน) ศาสตราจารย์สนิท อักษรแก้ว กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิเข้าเฝ้าถวายปริญญากิตติศักดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าเฝ้าถวายครุยวิทยฐานะ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ต่อจากนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ กราบทูลถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เนื่องในโอกาสทูลเกล้าถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พยาบาลศาสตร์) ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เข้าเฝ้าถวายปริญญากิตติมศักดิ์ แล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ วังศุโขทัย ต่อจากนั้นได้พระราชทานปริญญาบัตร โล่เกียรติยศตามลำดับดังนี้
 - ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้แก่
   ๑. นายอนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 
   ๒. นางสาวปราณปริยา วงค์ษา ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการสิ่งแวดล้อม)
 - โล่เกียรติยศแก่ ผู้ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประจำปี 2565 ได้แก่
   ๑.นายกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ 
 - อาจารย์ตัวอย่างดีเด่น ประกอบด้วย
   อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการเรียนการสอน ได้แก่
   ๑.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีลา สำเภา คณะแพทยศาสตร์
   อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรม สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แก่
   ๑. ผู้ช่วยศาสตราจารย์กุลดา เพ็ชรวรุณ คณะการบริการและการท่องเที่ยว
   อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านบริการวิชาการ ได้แก่
   ๑.รองศาสตราจารย์ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ คณะเภสัชศาสตร์
   อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่
   ๑.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิพมาส ชิณวงศ์ คณะพยาบาลศาสตร์
  - พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก โท และตรี จากวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตภูเก็ต วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนียะลา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง รวม 2,160 คน ตามลำดับ 
      โอกาสนี้ได้พระราชทานพระโอวาทความว่าบัณฑิตทั้งหลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าของประเทศ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้สูงและสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ ไปใช้ประกอบกิจการงานสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตนเอง และนำพาประเทศให้รุ่งเรืองก้าวหน้าได้ ในการทำงานให้บังเกิดผลเป็นประโยชน์นั้น บัณฑิตทุกคนจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานให้สำเร็จ และลงมือทำด้วยความตั้งใจจริงและความขยันหมั่นเพียร ทั้งต้องรู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ จะต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและความเสียสละ โดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” หากปฏิบัติได้ดังนี้ บัณฑิตก็จะสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่ตนเองและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง

ข้อมูลและภาพจาก : https://www.psu.ac.th/?page=news&news_code=1210

ช่วยแชร์ด้วยนะครับ
Back To Top