ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 22 ประจำปีการศึกษา 2535 สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีมติถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปรัชญาและศาสนา) แด่พระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทภิกขุ) (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2537 เวลา 14.00 น. โดยศาสตราจารย์ ดร. เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ในฐานะอุปนายกสภามหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริพงษ์ ศรีพิพัฒน์ อธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปรัชญาและศาสนา) แด่พระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทภิกขุ) (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ณ ห้องโถง โรงเรียนพุทธธรรม วัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ. ปากเกร็ด จ. นนทบุรี
พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปัญญานันโท) สมณศักดิ์ที่ถือครองในปี 2550 หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะพระสงฆ์ผู้ปฏิรูปแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทย ผู้เป็นสหธรรมิกร่วมอุดมการณ์คนสำคัญของพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ)[1] และผู้อุทิศชีวิตให้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านกำเนิดที่ ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เดิมมีนามว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ หลังใช้ชีวิตฆราวาสจนมีอายุได้ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุปนันทนาราม จังหวัดระนอง โดยมีพระรณังคมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดนางลาด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมีพระจรูญกรณีย์เป็นอุปัชฌาย์เมื่อปี พ.ศ. 2474 หลังจากอุปสมบทได้ไม่นาน ได้เดินทางไปศึกษาหาหลักธรรมในบวรพุทธศาสนาหลายจังหวัดที่มีสำนักเรียนธรรมะ เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และกรุงเทพมหานคร จนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นที่ 1 ของสังฆมณฑลภูเก็ต และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และเอกในปีถัดมาที่ จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านภาษาบาลีจนสามารถสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้หลวงพ่อต้องหยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านั้น แล้วเดินทางกลับพัทลุงภูมิลำเนาเดิมและได้เริ่มแสดงธรรมในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ รวมทั้งเดินทางไปจำพรรษาที่วัดสีตวนารามและวัดปิ่นบังอร รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่นี้ก็ได้ศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเผยแพร่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป
พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปัญญานันโท) ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 9.09 น. ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยเหตุติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริรวมอายุได้ 96 ปี 5 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมและรับศพไว้ในพระราชานุเคราะห์