ปริญญากิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2567

สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565-2566 ในระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จะเสด็จแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565-2566 โดยมีรายนามผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ประจำปี 2567 ดังนี้

  1. นายเชาวพงศ์ ฐิติสวัสดิ์ บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
    นายเชาวพงศ์ ฐิติสวัสดิ์ เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์สูงด้านการจัดการธุรกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ และอุทิศพื้นที่ของสถานประกอบการส่วนตัวเพื่อช่วยในการพัฒนาให้ความรู้ และประสบการณ์ด้านการจัดการธุรกิจแก่นักศึกษา เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของภาคใต้ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นผู้สนับสนุนและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวิทยาเขตสุราษฎร์ธานีให้มีคุณภาพ มีความเข้มแข็ง และมีความเจริญก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินภารกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์พื้นที่ทุ่งใสไช ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสนับสนุนภารกิจของคณะนวัตกรรมการเกษตร ประมง และอาหาร ซึ่งเป็นคณะใหม่ที่มีภารกิจด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร ทรัพยากรประมงและชายฝั่งอีกด้วย
  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนามนุษย์และสังคม)
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เป็นผู้ที่มีความสามารถด้านศิลปะการแสดงโนราที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้มุ่งใช้ความสามารถด้านดังกล่าวในการพัฒนาเด็ก เยาวชนให้มีทักษะทางวัฒนธรรมอันเป็นทักษะสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ต้องใช้ทักษะทางวัฒนธรรมในการพัฒนา Soft Skill ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมในภาคใต้ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความมีคุณธรรม จริยธรรม ความเสียสละ ซื่อสัตย์และมุ่งมั่น เป็นผู้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์สังคม มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ปิดกั้นในการรับความคิดใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาสังคมผ่านวัฒนธรรมโนรา และเป็นผู้มีระเบียบวินัย กระตือรือร้นในการทำงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ

3. รองศาสตราจารย์ ดร.นววรรณ พันธุเมธา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาไทย)
รองศาสตราจารย์ ดร.นววรรณ พันธุเมธา ได้ผลิตผลงานวิชาการและผลงานวิจัยอันเป็นคุณูปการต่อวงวิชาการด้านภาษาไทยและภาษาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หนังสือ “ไวยากรณ์ไทย” ซึ่งเป็นตำราอ้างอิงสำคัญในการเรียนการสอนและการวิจัยระบบไวยากรณ์ภาษาไทย หนังสือ “คลังคำ” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมคำและสำนวนภาษาไทยตามหมวดหมู่ความหมายโดยละเอียดและครอบคลุมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในวงวิชาการภาษาไทย ปัจจุบันหนังสือ “คลังคำ” เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับค้นคว้าความหมายของคำและเป็นคุณูปการต่อนักภาษาศาสตร์ที่ศึกษาระบบความหมายภาษาไทยและบุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะทำความเข้าใจวิธีการใช้คำและสำนวนภาษาไทยที่มีความหมายใกล้เคียงกัน และผลงานหนังสือ “พจนานุกรมประวัติคำไทยฉบับ 100 คำ” ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงด้านภาษาไทยเชิงประวัติ และเป็นเค้าโครงพื้นฐานให้มีการรวบรวมประวัติคำไทยต่อไป นอกจากนี้ ยังผลิตหนังสือรวมข้อเขียนด้านหลักภาษาและการใช้ภาษาไทย เช่น “การใช้ภาษา” “การใช้ภาษา ๒” “หนังสืออุเทศภาษาไทย: ภาษาไทยน่าศึกษาหาคำตอบ” เป็นต้น

4. นายอรุณ บุญชม ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (อิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษา)
นายอรุณ บุญชม เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านอิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษาเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาการทำงานได้อุทิศตนเพื่อศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ด้านวิชาการอิสลาม ด้านกฎหมายอิสลามและด้านการเงินการคลังอิสลามอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสัมมนาและเป็นวิทยากรเพื่อเผยแพร่ศาสนาอิสลามทั้งในและต่างประเทศ จึงได้ชื่อว่าเป็นนักเผยแพร่ ผู้นำเสนอวิถีอิสลามและวิถีมุสลิมโดยแท้จริง ได้มีผลงานทางวิชาการและผลงานดีเด่น เป็นตำรา หนังสือแปล และบทความเรียบเรียงด้านวิชาการศาสนาจำนวนมาก ผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์เป็นที่ชื่นชมและยอมรับจากบรรดา ครู อาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป คือ การแปลตำราและหนังสือฮะดีษซอเฮียะฮ์ (จริยวัตรของท่านศาสดา) จำนวน 9 เล่ม หนังสือริยาดุซซอลีฮีน (จริยธรรมอิสลาม) จำนวน 7 เล่ม หนังสืออัลฟิกฮ์ (นิติศาสตร์อิสลาม) จำนวน 7 เล่ม ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการอย่างแพร่หลาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

  1. นายคำนึง สร้อยสีมาก วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนาการเกษตร
    นายคำนึง สร้อยสีมาก เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนางานด้านการเกษตรและการจัดการทรัพยากรเกษตร เพื่อสร้างสมดุลของสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ได้ริเริ่มทำการเกษตรแบบปลอดภัยด้วยการศึกษาหาวิธีการทำการเกษตรแนวใหม่ตามแนวทางของตนเอง โดยเริ่มจากการปลูกพืชให้มีความหลากหลายและปลูกพร้อม ๆ กัน เพื่อลดการระบาดของแมลงในพืชนั้น ๆ ได้ศึกษาวิธีการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักด้วยตนเองจากศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแปลงเกษตรของตนเอง เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและสร้างผลผลิตให้มีคุณภาพตามความต้องการ นับได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์มาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม และยังได้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้สำหรับการพัฒนางานด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา เกษตรกร องค์กรภาครัฐและเอกชน ให้มีความสามารถด้านการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอีกด้วย

ข้อมูลและภาพจาก : https://www.psu.ac.th/?page=news&news_code=1897

ช่วยแชร์ด้วยนะครับ
Back To Top