กรมพระศรีสวางควัฒนฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต ม.อ. เป็นวันแรก

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2565 และ 2566 ระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2567

สำหรับวันที่ 18 กันยายน 2567 เวลา 12.23 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปยังศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นวันแรกในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กราบทูลสำนึกในพระกรุณาธิคุณ และกราบทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัย ในรอบปีการศึกษา 2565-2566 ซึ่งเป็นปีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปฏิบัติภารกิจรับใช้สังคมและประเทศชาติ ครบรอบปีที่ 55 ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างความรู้และนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคม เป็นสังคมฐานความรู้บนพื้นฐานพหุวัฒนธรรม สร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะทางวิชาการและวิชาชีพ ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่ปัญญา มีจิตสาธารณะ และมีทักษะในศตวรรษที่ 21 สามารถประยุกต์ความรู้บนพื้นฐานประสบการณ์จากการปฏิบัติและเข้าถึงความรู้ได้หลากหลายรูปแบบ โดยในปีการศึกษา 2566 มหาวิทยาลัยมีสาขาวิชาที่เปิดสอนทั้งสิ้น 355 สาขาวิชา (รวมหลักสูตรวุฒิบัตรทางการแพทย์) ระดับปริญญาตรี 145 สาขาวิชา และระดับบัณฑิตศึกษา 210 สาขาวิชา มีนักศึกษาทั้งหมด 34,561 คน มีบุคลากรทั้งสิ้น 12,068 คนโดยปีการศึกษา 2565 สภามหาวิทยาลัยฯ ทูลเกล้าถวายปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในปีการศึกษา 2566 ทูลเกล้าถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภูมิศาสตร์) แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กราบทูลถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เข้าเฝ้าถวายปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้ว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน และกราบทูลถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภูมิศาสตร์) ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายในโอกาสต่อไป

จากนั้นพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ แก่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยุรี วศินานุกร ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
Professor Espen Bjertness ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ระบาดวิทยา)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนามนุษย์และสังคม)
ศาสตราจารย์สมรตรี วิถีพร ปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
นายจรัลธาดา กรรณสูต ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการทรัพยากรเกษตรเขตร้อน)
นายคำนึง สร้อยสีมาก ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนาการเกษตร)

พระราชทานพระราชทานโล่เกียรติยศแก่ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่น ประจำปี 2566-2567 แก่

 ศาสตราจารย์จิตเกษม สุวรรณรัฐ คณะแพทยศาสตร์ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการเรียนการสอน
ศาสตราจารย์สาวิตรี อัษณางค์กรชัย คณะแพทยศาสตร์ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
 ศาสตราจารย์สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา คณะแพทยศาสตร์ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
รองศาสตราจารย์ไชยวัฒน์ ช่วยชูสกูล คณะแพทยศาสตร์ อาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2567
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วชรินทร์ แก้วอภิชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านกิจการนักศึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จันทร์พิมพ์ หินเทาว์ คณะทันตแพทยศาสตร์ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านกิจการนักศึกษา

และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก โท และตรี คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะทรัพยากรธรรมชาติ รวม 2,222 คน ตามลำดับ

โอกาสนี้ได้พระราชทานพระโอวาทความว่า บัณฑิตทั้งหลายถือได้ว่าเป็นผู้มีความรู้สูง ย่อมมุ่งหวังที่จะออกไปประกอบอาชีพการงานให้ประสบความสำเร็จ สร้างตัวสร้างฐานะเพื่อความยั่งยืนของชีวิต ตลอดจนสร้างประโยชน์และความเจริญมั่นคงให้แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ ในการทำงานสร้างสรรค์ประโยชน์นั้น แต่ละคนควรจะได้ยึดมั่นในพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกที่ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ทั้งนี้ เพราะประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์คือประโยชน์ส่วนรวม อันเป็นประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับร่วมกัน และเมื่อส่วนรวมได้รับประโยชน์ คือความเจริญมั่นคงแล้ว แต่ละคนผู้เป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวมก็ย่อมมีความเจริญมั่นคงในชีวิตและกิจการงานด้วย บัณฑิตทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพการงานใดก็ตาม จึงต้องมุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน และนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาในมหาวิทยาลัย ประกอบกับความรู้ที่ได้ขวนขวายศึกษาเพิ่มเติม ไปใช้ในการทำงานให้สำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความขยันหมั่นเพียร และความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าทำได้ดังนี้ แต่ละคนก็จะสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ ทั้งประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อันเป็นความสำเร็จแท้จริงที่ทุกคนพึงปรารถนา

ข้อมูลและภาพจาก : https://www.psu.ac.th/?page=news&news_code=1949

ช่วยแชร์ด้วยนะครับ
Back To Top