ม.อ. มุ่งสู่ World Class University เดินหน้าขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายการพัฒนาภาคใต้ โดยมีเจตนารมณ์ตั้งแต่แรกเริ่มที่จะให้เป็นมหาวิทยาลัยหลักของภาคใต้ ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการและ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยจึงมุ่งเน้นที่การพัฒนาคนเพื่อให้เป็นกำลังหลักของสังคม และยึดตามแนวทางการจัดการศึกษาของชาติที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

ปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงเป็นการจัดการศึกษาตามแนวทาง พิพัฒนาการนิยม (Progressivism) คือการพัฒนาผู้เรียนในทุกด้าน เพื่อให้พร้อมที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และปรับตัวได้ดีตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ของการเรียนรู้ และพัฒนาจากความต้องการของผู้เรียน ผ่านกระบวนการแก้ ปัญหาและค้นคว้าด้วยตนเอง กระบวนการที่ต้องลงมือปฏิบัติทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน และจากแนวคิดที่ว่าการพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงภายในมหาวิทยาลัยแต่จะดำเนินไปตลอดชีวิต

การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยจึงมุ่งเน้นถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยจากหลักการดังกล่าวข้างต้นนำสู่การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome Based Education) โดยการพัฒนาหลักสูตร กระบวน การจัดการเรียนรู้ ที่ มหาวิทยาลัยเชื่อว่าสามารถตอบสนองหลักการดังกล่าวได้ คือ การจัดการเรียนรู้ที่ใช้กิจกรรมหรือการปฏิบัติ (Active learning) ที่หลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้ (Problem-based Learning) การใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) และ การเรียนรู้โดยการบริการสังคม (Service Learning) และยึดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก “ขอให้ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” เป็นแนวทางในการดำเนินการ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มุ่งยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน ด้านการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จากการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก

ดร.นิวัติ แก้วประดับ

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนากำลังคนระดับสูง สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมเพื่อพัฒนาภาคใต้ พัฒนาประเทศ รวมถึงการทำงานให้ได้มาตรฐานระดับสากลเชื่อมต่อกับนานาชาติ โดยเฉพาะยิ่งในภูมิภาคอาเซียน ภารกิจสำคัญ คือ การสร้างกำลังคนของมหาวิทยาลัยฯ ให้เป็น Global Citizen และเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียนที่มีคุณภาพ ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยฯ ที่ว่า “การสร้างประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ สร้างคนดีมีคุณภาพ มีความสามารถ มีจิตอาสาที่จะออกมาดูแลสังคม” ซึ่งถือเป็นคุณค่าที่เป็นสากล

สงขลานครินทร์ถือเป็นมหาวิทยาลัยระดับ Top 10 ของประเทศที่มีคุณภาพสูง จัดอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศในกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ปัจจุบันมีหลักสูตรมากกว่า 300 หลักสูตร มี 5 วิทยาเขตครอบคลุมภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี หาดใหญ่ ตรัง สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังมีบทบาทสำคัญที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนด้วยความเป็นกลางทางวิชาการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ประเทศ และสังคม เช่น การมีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลทันตกรรม ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศที่มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และบุคลากรในการดูแลสุขภาพของประชาชน โครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ที่เป็นการให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำแต่กำเนิดให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ตลอดจนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ที่ทำงานร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่อันดามัน ขับเคลื่อนโดยบุคลากรที่มีความสามารถทางดิจิทัลของมหาวิทยาลัย รวมถึงการดูแลเชิงลึกทางวิชาการเพื่อสร้างอาชีพและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนฐานรากในพื้นที่ และอีกหลายโครงการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้ง 5 วิทยาเขต ได้ร่วมกันขับเคลื่อน

“ในส่วนของยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก สิ่งสำคัญต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความสามารถที่จะพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังคนระดับสูงในทุกระดับ และสาขาเฉพาะทางที่มีความชำนาญ เพื่อสร้างศักยภาพในการดำเนินการเรื่องที่สําคัญและส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งต่อชุมชนภาคใต้ ประเทศไทย และสังคมโลกได้อย่างแท้จริง”

รศ. ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์

ด้าน รศ. ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการเงิน เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และพันธกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปี 2566-2570 เพื่อก้าวสู่ World Class University ว่า การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับจากมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก โดยมหาวิทยาลัยฯ มุ่งเน้นที่จะสร้างความเป็น World Class University ยกระดับ 5 เรื่อง ได้แก่ เกษตรอาหาร, สุขภาพและการแพทย์, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สังคมพหุวัฒนธรรม และการสร้างนวัตกรรมและการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ซึ่งทั้ง 5 เรื่องนี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทยและมหาวิทยาลัยฯ เองก็มีความพร้อมทั้งด้านกำลังคน ด้านองค์ความรู้ ที่จะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิผลที่ยั่งยืน โดยในปี 2570 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับ Top 500 ของโลก โดยการจัดอันดับจาก QS World University Rankings โดยที่มหาวิทยาลัยฯ ยังมุ่งเน้นไปถึงสาขาสำคัญ ๆ ได้แก่ สาขาการท่องเที่ยว และสาขาการเกษตร ที่จะขับเคลื่อนให้อยู่ในอันดับ Top 100 ของโลก รวมถึงสาขาการแพทย์ และสาขาทางด้านวิศวกรรมเคมี ที่อยากจะยกระดับให้อยู่ในอันดับ Top 300 ของโลก ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บรรลุวิสัยทัศน์ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของโลก

ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ

ขณะที่ ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวถึงการใช้ระบบ Digital transformation และความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับเครือข่ายนานาชาติ ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีการขับเคลื่อน Digital transformation เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยสู่ความทันสมัยและสอดคล้องกับยุคดิจิทัล ซึ่งนอกจากเรื่องของ Cyber Security แล้ว ยังพยายามยกระดับในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ การสื่อสารภายใน เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ยุค Unified Communications โดยนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้ง 5 วิทยาเขต จะสามารถติดต่อสื่อสารในทุกรูปแบบ รวมถึงยังได้พัฒนาระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Document System (E-DOCs) คลอบคลุมตั้งแต่การนำเอกสารเข้า การลงทะเบียนรับ การเสนอเอกสาร การพิจารณา การลงนามเอกสารด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การสั่งการเอกสาร และการส่งเอกสารไปยังหน่วยงานหรือบุคลากร รวมทั้งการจัดเก็บเอกสารแบบออนไลน์ 100% ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 10 ปี และมีการใช้อย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็น Paperless Organization ในอนาคต

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความร่วมมือกับนานาชาติในหลากหลายกลุ่ม ทั้งพันธมิตรที่เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และเครือข่ายสำคัญของโลก อาทิ เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network : AUN), เครือข่าย IMT-GT UNINET (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle University Network) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN-European Academic University Network: ASEA-UNINET) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติหลายหลักสูตร อาทิ หลักสูตรการท่องเที่ยวและการโรงแรม และยังมีการยกระดับหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้ได้มาตรฐาน ABET หรือ Accreditation Board for Engineering and Technology

“สงขลานครินทร์มีจุดเด่นหลายด้าน ทั้งนักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ทั้งยังได้รับการจัดอันดับในระดับโลกมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายสาขาวิชา ถือแม้จะเป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาคของประเทศ แต่สามารถขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกได้แน่นอน”

เรื่องและภาพจาก : https://siamrath.co.th/n/536515

ช่วยแชร์ด้วยนะครับ
Back To Top